วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พิพากษาลับ ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา ม.112 จำคุก 5 ปีนักธุรกิจเชียงใหม่



วานนี้ (15 ก.ค.57) เวลา 13.30 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2553 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ฟ้องร้องนายอัศวิน (สงวนนามสกุล) นักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงกลับพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี
ในคดีนี้มีนางสกาวเดือน จริยากรกุล ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในโครงการเอราวัณรีสอร์ตกับจำเลยในช่วงปี 2546 เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในคำฟ้องคดีระบุว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 3 กรรม ได้แก่ ในช่วงระหว่างปี 2543-2546 ได้พูดกล่าวข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความองค์รัชทายาท ต่อนางมยุรา สฤษชสมบัติ, ในช่วงเดือนกันยายนปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางกัลยา ตันมณีวัฒนา และช่วงเดือนตุลาคมปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางอัญชลี นิลเดช
ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.56 เนื่องจากศาลเห็นว่ายังมีข้อพิรุธในพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์หลายประการ ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลย (ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้) แต่พนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คดี
โดยศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 ก.ค.57 แต่ฝ่ายจำเลยไม่ทราบหมายนัดในวันดังกล่าว เพราะได้มีการส่งหมายไปยังที่อยู่ซึ่งจำเลยไม่ได้อยู่อาศัยแล้ว จึงได้ให้ทนายจำเลยทำคำแถลงชี้แจงต่อศาล ก่อนนัดขอเข้าฟังคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลได้แจ้งกับผู้เข้าฟังการพิจารณาว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ดังนั้นจึงขออ่านคำพิพากษาเป็นการลับ โดยให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากห้องพิจารณาทั้งหมด
ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุว่าศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้พูดถ้อยคำตามที่โจทก์ฟ้องจริง โดยในขณะที่นางสกาวเดือนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงพฤติการณ์แอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของจำเลย เมื่อวันที่ 25 ม.ค.47 นั้น ยังไม่ปรากฏว่านางสกาวเดือนมีปัญหากับจำเลยเรื่องการซื้อขายที่ดินในโครงการเอราวัณรีสอร์ท จึงเชื่อได้ว่านางสกาวเดือนแจ้งตามความเป็นจริงที่ได้รับคำบอกเล่ามา โดยไม่ได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งจำเลย
ศาลยังเห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองคน คือนางกัลยาและนางอัญชลีเบิกความยืนยันตรงกับถ้อยคำที่นางสกาวเดือนแจ้งความไว้ และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่พยานทั้งสองจะเบิกความปรักปรำจำเลย ทั้งหากข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงพยานทั้งสองอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จได้อีกด้วย


ส่วนพยานฝ่ายจำเลย ทั้งพลตรีพิชัย พิชัยณรงค์ และพลเอกวินัย ทันศรี ศาลเห็นว่าเป็นผู้มีความสนิทสนมกับจำเลย จึงย่อมเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย ทั้งคำเบิกความของพยานทั้งสองเป็นการเบิกความลอยๆ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ และคำเบิกความของพลเอกวินัยยังขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวน
ในส่วนถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้กล่าวกับนางมยุรา ซึ่งนางมยุราเบิกความว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำเมื่อประมาณปี 2543-2546 ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางมยุราเพิ่งไปให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 25 พ.ค.49 อันเป็นการให้การหลังจากเวลาล่วงเลยไปนาน และในขณะที่นางสกาวเดือนแจ้งความไว้เมื่อปี 2547 ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งเรื่องที่นางมยุราเบิกความไว้ดังกล่าวด้วย คำเบิกความของนางมยุราจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
ศาลยังเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนางกัลยา ในเรื่องการปรับปรุงบริเวณสระน้ำ คงเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลย นางกัลยาไม่ได้มีส่วนได้เสียกับการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งนางกัลยาได้เบิกความว่าเมื่อได้ฟังจำเลยพูดเช่นนั้น รู้สึกว่าเป็นการพูดด้วยอารมณ์เพ้อเจ้อและเป็นการสร้างความสำคัญให้ตัวจำเลยเอง จึงไม่ทำให้นางกัลยารู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับนางอัญชลีนั้น ศาลเห็นว่ามีลักษณะเป็นการแอบอ้างเพื่อข่มขู่ให้นางอัญชลียอมยกบ้านให้จำเลย ทั้งจำเลยยังโทรศัพท์สอบถามนายมานะศักดิ์ เจ้าของบ้านอีกคนหนึ่งในเอราวัณรีสอร์ต ในลักษณะเดียวกันอีก พฤติการณ์ของจำเลยอาจทำให้นางอัญชลีและนายมานะศักดิ์ซึ่งจะต้องเสียผลประโยชน์ในบ้านหลังดังกล่าว เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับนางอัญชลีจึงเป็นข้อความที่เป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์แล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์มาทั้งหมด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กระทงเดียว ให้จำคุก 5 ปี
ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัวจำเลยตามหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ประกันตัวมาในชั้นสอบสวนและศาลชั้นต้น แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณาส่งเรื่องให้เป็นดุลยพินิจของศาลฎีกาแทน ทำให้จำเลยต้องถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ก่อนเป็นเวลาราว 3 วัน จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งเรื่องการประกันตัวอีกครั้ง
สำหรับนายอัศวิน อายุ 64 ปี เป็นนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิชาวไทยภูเขา นายอัศวินเคยเล่าถึงคดีนี้ว่าเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางธุรกิจ จากกรณีการซื้อขายที่ดินเอราวัณรีสอร์ต อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในช่วงปี 2546 โดยมีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างคู่กรณีในหลายคดี รวมทั้งข้อหามาตรา 112 ซึ่งได้ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น