วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คสช. เห็นชอบความตกลงการค้า-ลงทุนอาเซียน-อินเดีย



คสช.-ปลัดกระทรวงพาณิชย์-เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงเห็นชอบลงนามความตกลงการค้า-การลงทุนอาเซียน-อินเดีย โดยจะเปิดเสรีภาคบริการให้อินเดียเข้ามาลงทุน 49% ใน 80 สาขากิจการ และเห็นชอบพิธีสารแก้ไขตารางภาษีข้อตกลงการค้าออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ คณะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายพลเรือน นางสาวชุติมา บุญยประภัสร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ร่วมกันแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นางสาวชุติมา บุญยประภัสร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเกี่ยวกับการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนระหว่างวันที่ 24- 26 สิงหาคม 2557 ว่าได้มีการเสนอขอความเห็นชอบจากการประชุมคณะ คสช. ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 5/2557 โดยได้รับความเห็นชอบ ดังนี้
1) ความเห็นชอบลงนามความตกลงการค้าบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ซึ่งได้เริ่มมาตั้งปี ค.ศ. 2010 โดยอินเดียจะได้รับการคุ้มครองการลงทุน และจะมีการเปิดเสรีในภาคบริการ ซึ่งไทยได้เปิดให้ทั้งหมด 80 สาขาบริการ อินเดียสามารถเข้ามาถือหุ้นในภาคบริการเหล่านี้ได้ 49 % ซึ่งจะได้รับหลักประกันที่มั่นคงว่าหากเกิดอะไรขึ้นการถือหุ้นจะไม่ลดลง
2) ความเห็นชอบในพิธีสารแก้ไขตารางภาษีแนบท้ายข้อตกลงการค้าเสรีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
3) การทำงานระหว่างประเทศอาเซียน ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ในด้านการเปิดการค้าเสรีภาคธุรกิจ บริการ
4) การลงนามความตกลงเรื่องการยอมรับร่วมกันในวิชาชีพบัญชี โดยให้อาเซียนยอมรับมาตรฐานวิชาชีพร่วมกัน และมีการลงทะเบียนไว้ในสภาวิชาชีพกลางของอาเซียน
5) การเจรจาความตกลงการค้า ในภาคบริการของอาเซียน Asean Trade and Services agreement
6) การแก้ไขภาคผนวกภาษีตารางภาษีแนบท้ายความตกลงในเรื่องการค้าสินค้า เพื่อให้ถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรฐานโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะ คสช. สรุปสาระสำคัญดังนี้
ผลการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 8 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (IT-GT) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 เป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมอาเซียน ที่เนปิดอว์ เมียนมาร์ โดยในที่ประชุมมีการเห็นชอบการติดตามงานใน 6 สาขา ได้แก่ อาหารฮาลาล เกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งในอาเซียน การพัฒนาบุคลากรร่วมกันใน 3 ประเทศ การท่องเที่ยว และการลงทุน
ที่ประชุมให้ความให้ความเห็นชอบ เรื่อง การยกระดับโครงการเมืองยางพารา (Rubber City) ให้เป็นระเบียงยาพารา (Rubber Corridor) รวมทั้งเร่งรัดการปรับปรุงด่านแชนแดนที่มีพรมแดนติดต่อกัน โดยเฉพาะไทยกับมาเลเซีย ที่ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเป็นด่านที่มีความหนาแน่นในด้านการขนส่งสินค้า
โครงการนำร่องที่ได้มีการตกลงกัน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการการปรับปรุงด่านสะเดา โครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรัง โครงการทางพิเศษมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา โครงการศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง โครงการเมืองสีเขียว เป็นโครงการของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยไทยให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองนำร่อง และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยไทยตระหนักถึงความสำคัญของด่านชายแดน หากมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ด่านทั่วประเทศในไทยมีทั้งหมด 94 จุด ใน 31 จังหวัด ซึ่ง 5 ด่านที่มีความสำคัญ คือ ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ ด่านแม่สอด ด่านอรัญประเทศ (ปอยเปต) ด่านอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด หลักสำคัญในการปรับปรุงเพื่อให้เชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคในอาเซียน คือ การเชื่อมเครือข่ายการผลิตสินค้า (supply chain) การใช้ประโยชน์จากหลักโครงสร้างพื้นฐานของไทย สร้างความเจริญเติบโตร่วมกัน และความรวดเร็วในการปล่อยสินค้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น