อย่งน้อย 14 รายถูกซ้อมทรมาน ทำร้าย และข่มขู่ ระหว่างถูกกักตัว ส่วนใหญ่เป็นการ์ดเสื้อแดง ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร
8 ก.ย. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วัน หลังรัฐประการ ต่อศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย, พบอย่างน้อย 14 กรณี ที่มีการซ้อมทรมาน ทั้งการทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่ ชี้ว่า แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยกเลิกการเรียกรายงานตัวอย่างเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ แต่ใช้วิธีการเรียกตัวผ่านทางโทรศัพท์ และแม้การชุมนุมทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นทุกอาทิตย์ก็เริ่มหมดไป แต่ประชาชนยังคงถูกจับกุมและดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า สถานการณ์ช่วง 100 วันที่ผ่านมา พบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกตัวบุคคลให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย 571 คน ประชาชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 266 คน อยู่ในกรุงเทพ 107 คน ภาคเหนือ 72 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 คน นอกนั้นกระจายอยู่ในภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภายใต้ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับเสื้อแดงถูกจับกุมหรือเรียกตัวมากที่สุดคือ 396 คน รองลงมาคือนักวิชาการและนักกิจกรรม 142 คน และประชาชนผู้ชุมนุมโดยสงบ 98 คน
ในทางคดีพบว่า มีการดำเนินคดีกับประชาชน อย่างน้อย 87 คดี ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 61 คน ในศาลยุติธรรม 26 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการไม่ไปรายงานตัว 10 คดี คดีเกี่ยวกับอาวุธ 42 คดี คดีเกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบ 47 คดี เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 14 คดี อื่นๆอีก 10 คดี
จากการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการรับเรื่องร้องเรียนหรือทำการตรวจสอบหรือให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี อย่างน้อยกว่า 80 กรณี พบว่ามีกรณีที่น่าสนใจใน 3 ประเด็น คือเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตร่างกาย และเสรีภาพในการแสดงออก
ในประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม พบว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก กักตัวบุคคล 7 คน นำไปสู่กระบวนการที่ไม่ชอบ เช่น ไม่มีซักกรณีเดียวที่มีการเปิดเผยสถานที่คุมขังระหว่างการกักตัว เกือบทุกกรณี ผู้ถูกกักตัวจะถูกปฏิเสธสิทธิในการพบญาติ ปรึกษาทนายความหรือติดต่อกับโลกภายนอก มีอย่างน้อย 2 กรณีที่มีการกักตัวเกิน 7 วัน ในด้านสิทธิการประกันตัว พบว่า คดีที่เกี่ยวกับอาวุธสงครามและคดีความผิดตามมาตรา 112 โดยมากจะไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบ การไม่ไปรายงานตัว ศาลจะให้ประกันตัวในเกือบทุกกรณี ในส่วนผลของคำพิพากษา หากเป็นคดีชุมนุม ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่าปรับและรอลงอาญา
ในประเด็นสิทธิในชีวิตและร่างกาย พบว่า ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธสงคราม มีอย่างน้อย 14 กรณี ที่มีการซ้อมทรมาน ทั้งการทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่ เพื่อให้ผู้ถูกกักตัวให้การซัดทอดหรือรับสารภาพว่าได้เคยทำการก่อเหตุความไม่สงบในจุดต่างๆ ในช่วงการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกจับกุมหรือกักตัวเป็นคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการ์ดเสื้อแดง
ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก ในกรณีตามมาตรา 112 มีการดำเนินคดีอย่างน้อย 14 คดี เกือบทุกคดีเป็นการเร่งรัดหรือรื้อฟื้นคดีเก่าที่เคยมีการแจ้งความไว้ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกือบทุกคดีเกิดจากการแสดงออกโดยสันติของประชาชน เช่น การแต่งบทกวี การแสดงละคร ผู้ต้องหาเกือบทุกคดีไม่ได้รับการประกันตัว
ข้อห่วงกังวลประการสำคัญ 1. ที่ผ่านมามีอย่างน้อย 2 คดีที่มีการโอนคดีจากศาลยุติธรรมไปที่ศาลทหาร ทั้งสองคดีเป็นคดี 112 และเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต โดยอ้างว่าความผิดยังคงปรากฏต่อเนื่องอยู่ ซึ่งหากใช้หลักเกณฑ์นี้จะทำให้คดีอีกอย่างน้อย 6 คดี โอนไปที่ศาลทหาร ซึ่งยังข้อสงสัยเรื่องความเป็นอิสระและความเชี่ยวชาญของศาล 2. การซ้อมทรมาน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธมาตลอดว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ให้ข่าวว่ามีการซ้อมทรมาน โดยละเลยกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง
แนวโน้มต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะไม่มีท่าทีในการยกเลิกกฎอัยการศึก ผู้ที่ถูกจับกุมข้อหาครอบครองอาวุธและ 112 จะไม่ได้รับการประกันตัว ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในการจัดการกับผู้ที่แสดงออกทางการเมือง มีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม และใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 มากขึ้น และอาจมมีการใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการดำเนินการต่าง โดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ
ข้อเรียกร้องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริงในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่จับกุมคุมขังบุคคลโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ไม่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร และยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น