วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศาลปัตตานียกคำร้องเยียวยาซ้อมทรมาน-เพราะ รธน.50 สิ้นสุดแล้ว



ศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำสั่งคดีทหาร ฉก.30 ซ้อมทรมาน เหตุเกิดเมษายน 57 โดยขอเยียวยาความเสียหายระหว่างถูกควบคุมตัว ศาลระบุ รธน.50 สิ้นสุดลงแล้วตามคำสั่ง คสช. จึงไม่อาจให้ศาลสั่งระงับหรือเยียวยาโดยอาศัยอำนาจตาม รธน.50 จึงยกคำร้อง
7 ต.ค. 2557 - ศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยว่า วันนี้ที่ศาลจังหวัดปัตตานี โดยนายวนนท์ บุญรักษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีที่ ทป.1/2557 ระหว่างนางสาวรอฮีม๊ะ อูเซ็ง ผู้ร้อง พันเอกภูมิเดชา พ่วงเจริญ ผู้คัดค้าน กรณีผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างเหตุน้องชายถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยสรุปคำสั่งศาลระบุว่า
“พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้าน ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นพี่ของนายฮาซัน อูเซ็ง เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2557 เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจ 30 นราธิวาส ควบคุมตัวนายฮาซันฯ ผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 จากนั้นวันที่ 19 เมษายน 2557 ส่งตัวนายฮาซัน ให้ศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร ดำเนินการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ครั้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลนี้ให้ศูนย์ซักถามระงับการละเมิดสิทธินายฮาซันและเยียวยาความเสียหายโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ซักถามได้ปล่อยตัวนายฮาซันกลับภูมิลำเนา
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 และฉบับ 11/2557 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ เห็นว่าผู้ร้องยื่นคำร้องให้ศาลนี้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำและเยียวยาความเสียหายที่อ้างว่าเกิดขึ้นแก่นายฮาซันระหว่างถูกควบคุมตัวตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่เมื่อปรากฎว่าระหว่างพิจารณามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวดที่ 2 เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งระงับการกระทำหรือเยียวยาโดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”
หลังจากฟังคำสั่งแล้ว นางสาวรอฮีม๊ะ อูเซ็ง เตรียมหารือกับทีมทนายความที่ให้ความช่วยเหลือในการพิจารณายื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น