24 ต.ค. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ "การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ" ระบุการใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
แถลงการณ์
การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ
จากกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมตัวประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับจากช่วง 10 วันที่ผ่านมา (15 ตุลาคม – 24 ตุลาคม 2557) ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่
- 1. การจับกุมนาย อ. ในวันที่ 15 ตุลาคม ด้วยความผิดตามมาตรา 112 โดยไม่ผ่านการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- 2. การจับกุมนาย น. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยไม่มีหมายจับ[1]
- 3. การควบคุมตัว เจ้าหนี้นอกระบบที่จังหวัดมหาสารคาม ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด[2]
- 4. การควบคุมนาง พ. เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีอาชญากรรม การหายตัวไปของครูญี่ปุ่น[3] และ 5. การบุกค้นบ้านของนาย บ. เพราะเกรงว่าจะปลุกระดมผู้คน โดยไม่มีหมายค้น[4]
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย ในกรณีดังต่อไปนี้
- 1. การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิ ในคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นประธานแห่งคดี ย่อมมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการมีทนายความช่วยเหลือคดี สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมและสิทธิในการแก้ข้อกล่าวหา แต่การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ฝ่ายทหารปฏิเสธสิทธิการมีทนายความเข้าช่วยเหลือคดี ปฏิเสธที่จะแจ้งว่าได้ควบคุมตัวบุคคล ณ ที่ใด ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือการติดต่อกับโลกภายนอก ขาดโอกาสในการเตรียมคดี ส่งผลให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดเจตจำนงอิสระในการให้การ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมลดลง
- 2. การควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ขาดกลไกการตรวจสอบ ภายใต้กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจกักตัวบุคคลเพื่อสอบสวนไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน กรณีที่ผู้นั้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร กรณีการควบคุมตัวเพียงอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในรัฐที่เป็นนิติรัฐ การควบคุมตัวต้องผ่านการออกหมายโดยใช้อำนาจของศาลเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลสามารถตรวจสอบได้ และไม่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานฝ่ายใดมากเกินไป
- 3. การใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ อำนาจตามกฎอัยการศึก ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้น กักตัวบุคคล สอบสวน ออกคำสั่งห้ามกระทำการต่างๆ และประกาศอำนาจศาลทหาร
- 4. การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ตรงกับเจตนารมณ์ เจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ จากภัยสงครามหรือการจลาจล โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็ม เหนือฝ่ายพลเรือน สามารถใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อรักษาอธิปไตยของรัฐ ปราศจากราชศัตรู โดยเร็วที่สุด
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หาใช่เรื่องภัยสงครามหรือการจลาจลไม่ แต่เป็นเพียงการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความแตกต่างทางความคิด หรือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายปกติจัดการได้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกจึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ยกเลิกการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และออกประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้กลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย และประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นผลดีต่อประเทศตามวิถีทางอันดีของระบอบประชาธิปไตย
ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- [1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1413778981
- [2] http://news.springnewstv.tv/56873/ทหารบุกรวบแก๊งเงินกู้มหาสารคาม-คิดดอกเบี้ยสุดโหด
- [3] http://thairath.co.th/content/458129
- [4] http://www.prachatai.com/journal/2014/10/56169
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น