MON, 09/29/2014 - 16:10 JOM
วันที่ 29 ก.ย. ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นประธานประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงและแสวงหาแนวทางดำเนินการ จากกรณีคสช.ขอความร่วมมือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุยชน งดกิจกรรมแถลงข่าวและเสวนา "ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง" ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ วันที่ 2 ก.ย. กรณีขอความร่วมมือกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตยงดจัดกิจกรรม "ห้องเรียนประชาธิปไตย บทที่ 2 เรื่องการล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 13 ก.ย. รวมทั้งกรณีขอให้ยกเลิกจัดกิจกรรมทางวิชาการ "ความสุขและความปรองดอง ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57" ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.
โดยมีนางกัญญา หิรัณย์วัฒนพงศ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นายพิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมประชุม
คณะอนุกรรมการได้สอบถามตัวแทนนักศึกษา ถึงเหตุการณ์ที่ถูกสั่งงดการจัดเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว โดยตัวแทนนักศึกษา เล่าว่า หลังจากเจ้าหน้าที่เข้ามาขอให้งดจัดเสวนาแล้วได้นำตัวนักศึกษาที่เป็นผู้จัดงานและอาจารย์ที่เป็นวิทยากรไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้นักศึกษากรอกประวัติและซักถามข้อมูลส่วนตัว และยังถามในทำนองว่ารับเงินจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ หอพักอยู่ที่ไหนห้องอะไร อีกทั้งสังเกตได้ว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแฝงตัวอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อคอยดูว่านักศึกษาจะจัดกิจกรรมอะไร ด้านอนุกรรมการจึงให้อาจารย์ที่เป็นตัวแทนจากม.ธรรมศาสตร์ แจ้งผู้บริหารให้ทราบเรื่องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
นางกัญญากล่าวว่า เมื่อมีการตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายเรียบร้อย ตนเห็นว่ามันน่าจะเป็นช่องทางที่ดีที่จะให้นักศึกษาและประชาชนคุยกันถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ให้ความรู้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุว่าประชาชนมีสิทธิแสวงหาความรู้ ซึ่งประชาชนกับนักศึกษาไม่แตกต่างกัน การเอาสาธารณชนเข้ามาร่วมฟังน่าจะเกิดประโยชน์ ซึ่งการสั่งระงับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงและละเมิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียเอง
อจ.ชี้คุกคามอย่างเป็นทางการ
นายสมชายกล่าวว่า ถึงตอนนี้น่าจะตระหนักได้แล้วว่ามีการคุกคามเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การจัดเสวนาที่ธรรมศาสตร์และเชียงใหม่ไม่ได้นั้น ทำให้ตนโกรธมาก ตนจึงเตรียมจัดเสวนาเรื่องปี๊บ โดยไม่ขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่นำเสนอได้ แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารระดับนายพันมาพูดคุยกับตนพร้อมคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่าขอความร่วมมือให้งดจัดงานดังกล่าว ตนจึงกล่าวว่าหากจะไม่ให้จัด ต้องทำหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งมา ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่จะไม่ยอม พอตนยืนยันว่าจะจัด สุดท้ายก็ยอมออกหนังสือ
นายสมชายกล่าวว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องคือการแสดงออกเสรีภาพและความคิดเห็นเป็นของทุกคน ไม่เฉพาะนักวิชาการหรือนักศึกษา ถ้าออกกฎหมายไม่เข้าท่า ทุกคนต้องมีสิทธิแสดงความเห็น เพราะตอนนี้เหมือนกฎหมายคิดเองเออเอง คล้ายรับคำสั่งจากคณะรัฐประหารมากกว่า โดยเฉพาะกฎอัยการศึกที่ยังใช้อยู่ ทั้งที่การประกาศใช้ต้องเฉพาะเกิดเหตุจลาจลหรือเกิดภัยคุกคามที่เห็นได้ชัด คำถามคือมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เหมือนมโนกันเอาเอง ตนไม่เห็นเหตุผลว่ากฎหมายนี้ต้องใช้อยู่ จึงขอเสนอให้กสม.ช่วยแสดงต่อสังคมโลกว่าการที่นักศึกษาและอาจารย์ต่างๆ เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้กำลังถูกคุกคาม ต้องแสดงให้เห็นว่าระบอบเผด็จการยังคงอยู่ เพราะกสม.ในฐานะองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องพูดสิ่งเหล่านี้
กสม.ปัดยอมรับอำนาจทหาร
นายเอกชัยกล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัดทางการเมืองตอนนี้ รู้ว่าอะไรพูดได้และไม่ได้ งานเสวนาที่ผ่านมาถูกกำชับจากผู้จัดงานว่าอยากให้พูดในประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เน้นปรองดองที่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้พูดว่าใครถูกใครผิด แต่งานเสวนาที่เชียงใหม่ก็ยังถูกยกเลิก ทหารและรัฐบาลมีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ในภาวะฉุกเฉิน แต่ขณะนี้รัฐประหารมันจบสิ้นไปแล้ว จึงต้องถามว่าอะไรคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เราจะใช้ได้ คสช.ควรประกาศเป็นนโบายให้ชัดเจนเรื่องข้อจำกัด มหาวิทยาลัยจะได้รู้ว่าอะไรสอนได้และสอนไม่ได้
ด้านนพ.นิรันดร์กล่าวว่า กสม.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องสะท้อนปัญหาให้รัฐรับรู้ถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กสม.ไม่ได้ยอมให้กับอำนาจของทหารอย่างที่เข้าใจ เพียงแต่มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง การประชุมวันนี้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่มาแจ้งว่าติดภารกิจ กสม.ต้องเชิญมาในภายหลังเพราะต้องฟังข้อมูลทุกด้าน จากนี้กสม.จะทำหนังสือถึงนายกฯ รมว.ศึกษาธิการ และอธิการบดีที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ยืนยันว่ากสม.เป็นอิสระจากทุกฝ่าย ซึ่งมีหลักการและเหตุผลปกป้องสิทธิมนุษยชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น