การแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 57
(ที่มาของภาพ:เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยผลประชุม ครม. มีการอนุมัติงบดูแลเกษตรกร เน้นงบขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-จ้างงานเพื่อลดการทำนาปรังและเพาะปลูก ชี้การแก้ปัญหาด้วยการซับสิไดซ์ไม่ยั่งยืน เปรียบเหมือนการให้ปลา รัฐบาลจึงให้ปลาด้วยแต่เป็นปลาตัวเล็ก และให้เบ็ดเพื่อให้ไปหาปลาเอง
29 ต.ค. 2558 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีการประชุมพิจารณาถึง 28 วาระ มีวารจร 6 วาระ โดยส่วนใหญ่คือเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็นการกลั่นกรองไปตามกระบวนการขั้นตอนในการแต่งตั้ง และได้ให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการเพราะต้องดูแลเขา
ในส่วนที่สอง มีเรื่องการอนุมัติงบประมาณต่างๆ ตามนโยบายและมติที่ประชุม ครม. ในครั้งที่ผ่านมา เกี่ยวกับการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้งบประมาณต่างๆ ก็ไปการขออนุมัติ ครม.เพื่อให้มีการเบิกจ่ายได้
เรื่องงบประมาณอันที่สาม มีเรื่องการอนุมัติหลักการงบประมาณ เพื่อที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในเรื่องเศรษฐกิจ อย่างที่เคยเรียนว่างบประมาณใน 3 เดือนแรกต้องการขับเคลื่อนงบประมาณไปสู่การจ้างงานให้สอดคล้องกับแนวคิดลดการทำนาปรัง หรือการเพาะปลูกต่างๆ ที่ไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นจึงมีมาตรการช่วยเหลือให้คนมาช่วยกันทำงาน คงไม่ใช่งานใช้แรงงานทั้งหมด ก็คนแก่คนเฒ่าทำไมไหวอยู่แล้วก็ให้ลูกหลานมาทำ เพื่อให้มีรายได้และมีการจับจ่ายเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดไม่ใช่วันนี้สั่งได้แล้ววันพรุ่งนี้งบประมาณจะออก ไม่ใช่ แต่ต้องทำรายละเอียดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งวันนี้หมดไปแล้วเดือนหนึ่งใช่ไหม พฤศจิกายนหน้าเราจะต้องรู้แล้วว่าจะมีการจับจ่ายในเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ยอดรวมทั้งหมดก็อยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนล้านบาท
นอกจากนี้ก็การประชุมเตรียมการประชุมเอเปค ที่จะกลับมาที่พม่า เป็นเรื่องอาเซียนด้วยกัน ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เตรียมการในทุกประเด็น เมื่อเวลาผมไปต้องเตรียมว่าจะต้องพูดคุยในเรื่องใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าขาย การยกระดับราคาสินค้า การสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียนด้วยกัน เพราะประเทศส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกเหมือนกัน จึงต้องมีการสร้างความรับรู้ให้กับประชาคมอื่นๆ ด้วยว่าจะทำอย่างไรเมื่อเราเป็นประเทศที่มีรายได้จำนวนน้อยจากการทำเกษตรที่มีความจำเป็นของประชากรโลกจะทำอย่างไรให้เขาเห็นคุณค่าของเราและจะรวมกลุ่มอาเซียนให้ได้ ในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าเหล่านี้ให้สูงขึ้นในอนาคต นี่เป็นแนวคิดที่รัฐบาลปัจจุบันคิดไว้
ซึ่งถ้าแก้ปัญหาด้วยการซับสิไดซ์ (Subsidize = มาตรการอุดหนุน) ไปตลอด มันก็คือความไม่ยั่งยืนนะ คงแก้ได้เพียงปีเดียวแหละ การจ่ายเงินก็จ่ายได้ครั้งเดียว พอครั้งต่อไปก็จ่ายยากแล้วนะ มันจะกลายเป็นการเพาะนิสัย มันก็เหมือนการให้ปลานะ อันนี้เราให้ทั้งปลาด้วยแต่ตัวเล็กหน่อยและให้เบ็ดไป สำหรับที่จะหาปลาเพิ่มนะ ก็เป็นทำนองนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น