ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี แต่คดี ‘เผาศาลากลาง’ ยังคงดำเนินอยู่ จำเลยจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ในเรือนจำด้วยข้อหาฉกรรจ์โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่ศาลพิพากษาลดหลั่นกันไป
ศาลากลางจังหวัดหลายแห่งถูกเผาในวันที่ 19 พ.ค.2553 หรือวันสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตที่สะสมมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2553 เป็นต้นมาพุ่งขึ้นอีก 19 คนในวันสลายการชุมนุม จนยอดรวมอยู่ที่ 94 ราย (ศปช.)
เหตุประท้วงหน้าศาลากลางและคดีเผาศาลากลางที่เกิดขึ้นมี 5 แห่ง ได้แก่ อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น และมหาสารคาม ในส่วนของมหาสารคามนั้นศาลากลางไม่ถูกเผา เป็นเพียงการเผายางรถยนต์และเผาโรงรถบางส่วน
โดยสรุป มหาสารคามและอุดรฯ คดีถึงที่สุดแล้ว, อุบลราชธานีอยู่ในชั้นฎีกา, มุกดาหารอยู่ในชั้นอุทธรณ์ และขอนแก่น ช้าที่สุด ยังอยู่ในศาลชั้นต้น
-มหาสารคาม มีจำเลย 9 ราย โทษจำคุก 5 ปี 8 เดือน เบากว่าที่อื่นๆ โดยเปรียบเทียบ อาจเป็นเพราะศาลากลางจังหวัดยังไม่ได้ถูกเผา
-อุดรธานี มีจำเลย 8 ราย โทษจำคุกสูงสุด 13 ปี 6 เดือน 2 ราย นอกนั้นโทษจำคุกลดหลั่นลงมา ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ลดโทษลงเกือบครึ่ง หลังจากชั้นต้นและอุทธรณ์สั่งจำคุกสูงถึง 22 ปี 6 เดือน
-อุบลราชธานี มีจำเลย 21 ราย โทษจำคุกสูงสุดคือ 33 ปี 12 เดือน 4 รายในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 ราย นอกนั้นโทษจำคุกลดหลั่นกันลงมา
-ขอนแก่น มีจำเลย 3 รายในคดีเผาศาลากลาง ถูกคุมขังระยะหนึ่งก่อนจะได้รับการประกันตัว ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างสืบพยานในศาลชั้นต้น
รายละเอียดและความเห็นทนายความ
อุบลราชธานี
อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่ศาลลงโทษจำคุกจำเลยสูงสุดในบรรดา 5 จังหวัด นั่นคือ 33 ปี 12 เดือน
เหตุการณ์ชุลมุนที่บริเวณหน้าศาลากลาง เกิดขึ้นในช่วงบ่ายหลังสัญญาณวิทยุชุมชนถูกตัด และเหตุการณ์สลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ ร้อนถึงขีดสุดเช่นกัน ผู้ชุมนุมที่ศาลากลางมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่เป็นระลอก
ประยุทธ ชุ่มนาเสียว ประธานเครือข่ายวัฒนธรรมชุมชนภาคอีสานเคยให้ข้อมูลในเวที คอป.เมื่อต้นปี 2554 ว่า ในวันเกิดเหตุ ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ มีเสียงปืนดังขึ้นและคนเห็นแสงไฟของปืนจากชั้นสองของศาลากลาง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 รายถูกนำส่งโรงพยาบาล จากนั้นมีข่าวลือว่าผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย ทำให้ผู้ชุมนุมโกรธแค้นเป็นอย่างมากและบุกเข้าไปในศาลากลาง
คำพอง เทพาคำ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองวารินชำราบ ยืนยันว่าวิทยุชุมชนไม่ได้มีเนื้อหายั่วยุปลุกระดมให้เผาศาลากลาง เพียงแต่เชิญชวนให้ไปแสดงพลังที่ศาลากลางเพื่อกดดันส่วนกลางซึ่งกำลังมีการล้อมปราบกันอยู่ และคำถามสำคัญในวันนั้นคือ ทำไมเจ้าหน้าที่จึงรีบถอนกำลังออก
สำหรับคดีที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น มีผู้ได้รับโทษสูงสุด คือ โทษประหารชีวิตสำหรับข้อหาร่วมกันเผาสถานที่ราชการ อยู่ 4 ราย แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงได้รับการลดโทษเหลือ 33 ปี 4 เดือน บวกรวมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 8 เดือน รวมเป็นรายละ 33 ปี 12 เดือน
จำเลยทั้ง 4 เป็นชายวัยกลางคนอายุราว 50 กว่าปี 2 ราย อีกรายหนึ่งคือ ธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ อายุ 20 ปีในวันถูกจับกุม นอกจากนี้ยังมีหญิงอีก 1 รายคือ ปัทมา มูลนิล อายุ 23 ปีในวันถูกจับกุม ทั้งหมดถูกคุมขังตั้งแต่ชั้นจับกุมจนปัจจุบัน
กล่าวถึงภาพรวม ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลย 21 คนในคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 โดยแบ่งคำพิพากษาออกเป็น
จำคุก 33 ปี 12 เดือน จำนวน 4 คน
จำคุก 2 ปี จำนวน 4 คน
จำคุก 1 ปี จำนวน 1 คน
จำคุก 8 เดือน จำนวน 3 คน
ยกฟ้องจำนวน 9 คน
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นบางส่วนคือ จำคุก 33 ปี 12 เดือน จำนวน 4 ราย, จำคุก 2 ปี 4 ราย, จำคุก 1 ปี 1 ราย ยกฟ้อง 2 ราย ส่วนที่คดีสิ้นสุดเพราะอัยการไม่อุทธรณ์มีอีก 8 ราย ส่วนที่พิพากษาแก้ คือ กรณีจำคุก 8 เดือน ให้ปรับเป็น 2 ปี จำนวน 1 ราย กรณียกฟ้องให้แก้เป็นจำคุก 2 ปีจากข้อหาบุกรุกอีก 1 ราย
ที่มากไปกว่านั้นคือ ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่งเสร็จสิ้นการสืบพยานในคดีแพ่งอันเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งหลายหน่วยราชการฟ้องจำเลย 8 รายที่ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันวางเพลิงฯ เพื่อเรียกค่าเสียหาย 128 ล้าน
หน่วยงานรัฐที่ฟ้องได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมบัญชีกลาง ฯลฯ
นายวัฒนา จันทสิน ทนายความที่ดูแลคดีเผาศาลากลางอุบลฯ และคดีแพ่ง กล่าวว่า ในคดีแพ่งดังกล่าวนั้นมีแต่การสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยศาลไม่อนุญาตให้สืบพยานจำเลย คดีดังกล่าวเรียกว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในคดีอาญา คดีแพ่งก็จะสิ้นสุดไปด้วย แต่หากศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ คดีแพ่งก็จะมีการพิจารณาอีกทีว่าค่าเสียหายที่จำเลยต้องจ่ายควรเป็นเท่าไร
“โดยรวมทั้งหมด ผมคิดว่าถ้าเป็นคดีทั่วไป ศาลคงยก และแม้จะปล่อย 4 คน (ที่โทษหนักสุด 33 ปี 12 เดือน) ก็ไม่น่าเกลียด เพราะไม่มีใครยืนยันได้เลยว่าจำเลยเป็นผู้เผา อาศัยแต่ภาพถ่ายว่าอยู่ในที่เกิดเหตุ บางคนยืนยันว่าเขาไปช่วยดับไฟด้วยซ้ำแต่ศาลไม่เชื่อ สำหรับข้อหาที่โทษหนักขนาดนี้ ถ้าไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งก็ไม่ควรไปลงโทษเขา” ความเห็นจากทนายวัฒนา จันทสิน
มหาสารคาม
จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ศาลากลางไม่ถูกเผา และไม่มีข้อมูลปรากฏในสื่อมวลชนมากนัก
เหตุการณ์ความชุลมุนเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 19 พ.ย. มีคนมาปิดถนนข้างที่ว่าการอำเภอ มีการเผายางรถยนตร์บริเวณใกล้เคียง ทุบทำลายและเผาตู้โทรศัพท์สาธารณะ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมและส่งฟ้องจำเลยรวม 10 คนข้อหาก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้เสียทรัพย์ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง 1 ราย อีก 9 รายลงโทษจำคุก 5 ปี 8 เดือน ต่อมาจำเลยได้รับการประกันตัวในเดือนกรกฎาคม 2555 ระหว่างสู้ชั้นอุทธรณ์ หลังจากถูกขังอยู่เกือบหนึ่งปี จากนั้นในวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ทำให้คดีนี้สิ้นสุดลง และจำเลยต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งโดยนับโทษต่อจากที่โดยขังไปแล้วในครั้งแรก ในจำนวนนี้มีจำเลย 2 รายที่เป็นนักศึกษาอาชีวะ
เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายในคดีนี้มองว่า เหตุที่คดีของมหาสารคามมีโทษจำคุกน้อยกว่าที่อื่นๆ อาจเพราะศาลากลางไม่โดนเผา ทรัพย์สินไม่ได้เสียหาย และศาลอาจเห็นว่าในระหว่างต่อสู้คดี ฝ่ายจำเลยก็เชื่อฟังศาล ไม่มีการคัดค้านใดๆ
“แต่โดยพยานหลักฐานแล้ว สืบไม่ถึงว่าใครเป็นคนทำ โอกาสชนะคดีสูงมาก แต่กรณีที่ลงโทษนี้น่าจะเป็นการปรามมากกว่า”
“คดีแบบนี้เป็นคดีการเมือง เป็นเกมการเมือง ถ้าคดีปกติจะไม่สามารถลงได้เลย ถ้าทำผิดจริงก็โอเค แต่โจทก์สืบก็ไม่เห็นว่าพวกเขาทำตรงไหน ภาพที่เห็นจริงๆ แค่การขว้างปา”
“ในคำพิพากษา ศาลระบุว่า “น่าสงสัย” “น่าเชื่อว่า” ซึ่งโดยปกติควรต้องยกประโยชน์ให้จำเลย แต่นี่กลับใช้เป็นการลงโทษ” ทนายกล่าว
ขอนแก่น
เหตุการณ์ที่ขอนแก่นดูจะเกิดความชุลมุนขึ้นหลายจุด โดยจุดแรกคือ ศาลากลางจังหวัด หลังจากผู้คนนับพันไปรวมกันด้วยความโกรธแค้น มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และท้ายที่สุดเกิดเพลิงลุกไหม้ กลุ่มคนยังเคลื่อนขบวนไปทุบทำลายและผาสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีขอนแก่น ทุบทำลายตู้เอทีเอ็มและกระจกธนาคารกรุงเทพฯ สุดท้ายคือเคลื่อนไปยังบ้านนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ส.ส.ขอนแก่นพรรคภูมิใจไทย มีการจุดไฟเผายางหน้าบ้านและเขย่าประตู กระทั่งมีเสียงปืนดังขึ้นจากในบ้านหลายนัด ทำให้ผู้ชุมนุมด้านนอกบาดเจ็บ 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย
คดีของขอนแก่นล่าช้ากว่าที่อื่นๆ เนื่องจากอัยการได้ส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาในข้อหาก่อการร้าย จนในเดือนธันวาคม 2555 อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ฟ้องคดีก่อการร้าย กับจำเลย 3 ราย (อีก 30 กว่ารายติดตามจับกุมไม่ได้) แต่ให้ฟ้องจำเลยทั้งสามคนเพิ่มเติมในความผิดฐานรวมกันเข้าไปในอาคารเก็บรักษาทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธและโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปนอกเหนือจากข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ทนายความได้ยื่นประกันตัว และจำเลยทั้ง 3 ก็ได้รับการปล่อยชั่วคราว
เกตุปัญญา วงศีล ทนายความในคดีเผา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจกท์ เหลืออีกราว 8-10 ปาก ส่วนพยานจำเลยมีราว 10 ปาก คาดว่าการสืบพยานจะเสร็จสิ้นในต้นปีหน้า
นอกเหนือจากคดีนี้เผาศาลากลาง ยังมีคดีเผาสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และคดีที่มีผู้ไปกักรถทหารไม่ให้เคลื่อนเข้าสู่ กทม. ที่สามารถหาข้อมูลได้ (ส่วนคดีบุกบ้าน ส.ส.ประจักษ์ และการยิงสวนออกมาจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นยังไม่สามารถหาข้อมูลความคืบนหน้าได้)
ในส่วนของคดีเผาสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีขอนแก่นนั้น ทนายบุญยงค์ แก้วฝ่ายนอก ที่รับผิดชอบในคดีนี้ให้ข้อมูลว่า คดีนี้มีจำเลยเพียง 1 คนถูกคุมขังอยู่ 14 เดือน ยื่นประกัน 7-8 ครั้งจนท้ายที่สุดจึงได้ประกันตัว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีเผา แต่ให้มีความผิดฐานบุกรุก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้จำคุก 2 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นจำคุก 10 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างฎีกา
“ศาลบอกว่า แม้จะไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด แต่อยู่ในกลุ่มพวกที่เผาก็สามารถลงโทษได้ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่เป็นปัญหามาก พยาน 40-50 ปาก ไม่มีใครเห็นเลยว่าจำเลยเป็นคนเผา ตัวเขาเองก็มามอบตัวเองหลังจากทราบข่าวว่ามีหมายจับ แถมคดีนี้ฟ้องเขาเป็นจำเลย 1 คน จากจำนวนคนเป็นพัน” ทนายบุญยงค์กล่าว
ทนายกล่าวด้วยว่า ในทางนำสืบพบว่าคนที่เผามาจากต่างถิ่น มายุยุงให้เกิดการเผาแต่ก็ไม่โดนจับกุม ซึ่งทั้งภาพและในทางนำสืบก็ปรากฏข้อมูลในลักษณะดังกล่าว
อีกคดีหนึ่งคือ คดีปิดกั้นถนนเพื่อไม่ให้รถลำเลียงของทหารเดินทางเข้ากรุงเทพฯ คดีนี้มีจำเลย 3 คน แยกเป็น 3 คดีฟ้องในข้อหาเดียวกันทั้งหมด ศาลฎีกาพิพากษารอลงอาญา 1 คน ส่วนอีกสองคนลงโทษจำคุก 12 เดือน ไม่รอลงอาญา
“อันนี้แยกเป็น 3 คดี คดีละคน ข้อหาเดียวกัน พฤติการณ์เดียวกัน แต่ศาลสั่งไม่เหมือนกัน ปัจจุบันเหลืออยู่ในเรือนจำคนเดียวคือคนสุดท้ายที่เพิ่งติดตามจับกุมได้ทีหลัง” ทนายกล่าว
มุกดาหาร
สถานการณ์ในมุกดาหารในช่วงสายของวันที่ 19 พ.ค.53 มีการเผายางหน้าศาลากลาง ผู้ชุมนุมขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเจรจาขอตั้งเวทีชุมนุมกดดันรัฐบาลให้ยุติสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ แต่ไม่ประสบผล ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจปีนรั้วเข้าไปในศาลากลาง และลำเลียงยางเข้าไปวางตรงทางเข้า มีการพยายามโยนไฟเข้ากองยาง แต่ก็มีการห้ามปรามและดับไฟ กระทั่งมีวัยรุ่นกลิ้งยางเข้าไปใกล้อาคารหลังเก่า จากนั้นก็เกิดไฟลุกแล้วลามอย่างรวดเร็ว ช่วงเย็นอาคารหลังเก่าเริ่มมอด ขณะที่อาคารหลังใหม่เริ่มเกิดไฟลุกอีก เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและดับไฟ ทำให้อาคารหลังใหม่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีการจับกุมผู้ชุมนุมในที่เกิดหตุไว้ 16 รายในจำนวนนี้มี 1 รายเป็นเยาวชน โดยผู้ชุมนุมหลายรายระบุว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระบองทุบตี ทำร้ายร่างกาย ระหว่างจับกุม
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) กล่าวถึงเหตุจับกุมในวันนี้ว่า
“ทั้งหมดถูกควบคุมตัวรวมกันไว้ในรถผู้ต้องขังของตำรวจ บริเวณกลางลานซีเมนต์หน้าอาคารศาลากลางหลังเก่าซึ่งถูกไฟไหม้ไปแล้ว เป็นเวลา 2 คืน โดยไม่มีการปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นถูกนำไปขังที่เรือนจำมุกดาหาร ด้วยข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์และบุกรุกสถานที่ราชการ ในจำนวนคนที่ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บและถูกจับกุมในช่วงสลายการชุมนุมทั้ง 16 คนนี้ ในที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คน และศาลพิพากษายกฟ้องถึง 10 คน”
อย่างไรก็ตาม มีการตามจับกุมเพิ่มเติมอีกภายหลัง จนจำเลยในคดีนี้มีถึง 29 คน รวมยกฟ้อง 16 คน ถูกพิพากษาจำคุก 13 คนคนละ 20 ปี ส่วนคดีเยาวชนนั้นขึ้นศาลเยาวชน พิพากษาให้มีความผิดฐานบุกรุกและให้คุมประพฤติ คดีอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์
อุดรธานี
เหตุการณ์ของอุดรธานีเริ่มคุกรุ่นในช่วงบ่าย ผู้ชุมนุมมีการเผายางรถยนต์หน้าศาลากลาง การพังประตูรั้ว ฝ่าแนวกั้นของ อส.ไปถึงอาคารหลังเก่า ขว้างปาสิ่งของเข้าไปในอาคาร จากนั้นเกิดควันไฟขึ้นที่ชั้น 2 ไม่นานเพลิงก็ลุกไหม้อาคารหลังเก่า นอกจากนี้อาคารสำนักเทศบาลนครอุดรก็เกิดเพลิงไหม้ด้วย ผู้ชุมนุมพยายามบุกไปที่ว่าการอำเภอเมืองและจวนผู้ว่าฯ แต่มีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ชุมนุมจึงไปรวมกันที่ทุ่งศรีเมือง จากนั้นเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันสลายการชุนุม เจ้าหน้าที่มีการยิงปืนเข้าไปบริเวณชุมนุมด้วย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย และเสียชีวิต 2 ราย คือ นายเพิน วงศ์มา และนายอภิชาติ ระชีวะ
จำเลยในคดีนี้มี 22 คน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ 9 คนที่เหลือยกฟ้อง ผู้ที่โดนโทษหนักมีอยู่ 4 คน คือ จำคุก 22 ปี 6 เดือน 1 คน, จำคุก 20 ปี 6 เดือน 2 คน และจำคุก 11 ปี 3 เดือน 1 คน ทั้งสี่ถูกคุมขังยาวนานราว 3 ปีก่อนจะได้ประกันตัว นอกเหนือจากนั้นยังมีจำเลยที่ต้องโทษจำคุก 2 ปี 6 ดือน 3 คน และ 4 ปี 6 เดือน 1 คน
ผู้ต้องขัง 4 คนที่โทษหนักนั้นมีผู้เยาว์อยู่ 1 คนคือ นายกิตติพงษ์ ชัยกัง อายุ 18 ปีขณะถูกจับกุม เขาถูกลดโทษจำคุกลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 11 ปี 3 เดือน
ระหว่างผู้ต้องหาหลายคนคุมขังอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ วันชัย รักสงวนศิลป์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาเป็นลมและเสียชีวิตลงอย่างกระทันหันในเรือนจำ
ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลดโทษให้จำเลยทั้งหมด ทำให้ส่วนโทษน้อยๆ นั้นครบโทษแล้วหรือไม่ก็เพียงอยู่ในเรือนจำเพิ่มอีกไม่กี่วันจนครบโทษ ส่วน 4 รายที่โดยโทษหนักนั้น คนที่โดนโทษสูงสุด 22 ปี 6 เดือนหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงเหลืออีก 3 คน ซึ่งได้รับโทษจำคุก 13 ปี 6 เดือน 2 ราย และกิตติพงษ์ ชัยกัง ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้รับโทษจำคุก 11 ปี 3 เดือน ปัจจุบันทั้งสามถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดอุดรธานี
ที่น่าสนใจคือ ทั้งสามไม่ฎีกาต่อ จนพ้นกำหนดยื่นฎีกาไปเมื่อ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้เอง
กองชัย ชัยกัง ผู้ใหญ่บ้านหนองหูลิง ต.หนองไฮ อ.เมือง จ.อุดรธานี ผู้เป็นพ่อของกิตติพงษ์ ชัยกัง กล่าวว่า เหตุที่จำเลยทั้งสามซึ่งรวมถึงลูกชายของเขาไม่ได้ฎีกาต่อ และยอมถูกจำคุกเต็มเวลาโทษเป็นเพราะขาดแคลนทนาย และทุนทรัพย์ในการประกันตัว เนื่องจากในชั้นฎีกานั้น กองทุนยุติธรรมได้ถอนเงินประกันตัวที่เคยสนับสนุนออกไป
“มันก็ยุคใครยุคมัน ตอนนั้นรัฐบาลเพื่อไทย เราก็ยังพอได้เงินมาประกัน ตอนนี้เขาก็ถอนไปแล้ว เงินประกัน 3 คน 7.5 ล้าน เราหาไม่ได้ ไปหานักการเมือง นักการเมืองก็คือนักการเมือง เวลาเขาเคลื่อนไหวอยู่มันก็โอเค แต่ตอนนี้เขายุติแล้วไง เขาก็ไม่ได้ช่วย ทนายจากสมาคมทนายความก็โทรมาบอกว่าถ้าจะฎีกาก็คัดสำนวนมาทั้งหมด จะทำให้อยู่ แต่สำนวนพันกว่าหน้า ค่าถ่ายเอกสารที่ศาลหน้าละ 6 บาท เขาไม่ให้เอามาถ่ายเอกสารเอง รวมแล้วก็ 9,000 กว่าบาท คิดแล้วความหวังน้อย เอาเงินไว้ซื้อของกินให้ลูกดีกว่า”
“คุยกับลูกชาย ลูกชายก็ทำใจแล้วแต่ก็อดน้อยใจไม่ได้เท่านั้นเอง โดยเฉพาะตอนนี้คนมาเยี่ยมก็หายไปหมดด้วย แต่ก่อนยังมีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ กลุ่มของบก.ลายจุดด้วย ตอนนี้เหลือแต่พ่อกับแม่” กองชัยกล่าวพร้อมยืนยันว่า กำลังใจจากคนภายนอกเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ต้องขัง
“สำหรับเรื่องพยานหลักฐาน ศาลเขาก็เชื่ออัยการ ปลัดอำเภอ ฝ่ายความมั่นคงมากกว่า มีภาพเป็นหลักฐาน เขาบอกว่าลูกชายไปทุบถังน้ำมันแล้วรองน้ำมันใส่ขวด แต่ในภาพเป็นรูปถือขวดน้ำปกติ ผมมองว่าโทษมันหนักไปสำหรับเขา ที่ผ่านมาเขาไปร่วมชุมนุมจริงๆ เหมือนคนอื่นๆ เขาไปกับชาวบ้านในหมู่บ้านจนไม่ได้เรียนหนังสือ ไปพร้อมพ่อพร้อมแม่ พร้อมคนในหมู่บ้านนี่แหละ” ผู้ใหญ่กองชัยกล่าว
อาจต้องกล่าวไว้ด้วยว่า ผู้ใหญ่กองชัย คือตัวแทนของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ซึ่งเปิดเป็น “หมู่บ้านเสื้อแดง” แห่งแรกของอุดรฯ และเป็นข่าวครึกโครมในช่วงไม่กี่ปีก่อน ปัจจุบันนอกจากบุตรชายจะอยู่ในเรือนจำแล้ว กองชัยเองต้องรายงานตัวต่อหน่วยงานความมั่นคงทุกเดือน ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง นอกจากนี้ยังมีหน่วยทหารนอกเครื่องแบบลงพื้นที่หมู่บ้านตรวจตราเดือนละ 2 ครั้งจนปัจจุบัน
จังหวัด
|
ศาลชั้นต้น
|
ศาลอุทธรณ์
|
ศาลฎีกา
| |
อุบลราชธานี
จำเลย 21 คน
จับกุมคุมขังในชั้นแรก 46 ราย ต่อมาได้ปล่อยตัวบางส่วน ประกันตัวบางส่วน
ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำ 4 ราย
|
24 สิงหาคม 2554
|
2 พฤษภาคม 2556
|
ยังไม่มีคำตัดสิน
| |
ข้อหา
ร่วมกันเผา
บุกรุก
ฝ่าฝืนพ.ร.ก. |
จำคุก
จำคุก 33 ปี 12 เดือน 4 คน
จำคุก 1 ปี 1 คน
จำคุก 2 ปี 4 คน
จำคุก 8 เดือน 3 คน
ยกฟ้อง 9 คน
|
พิพากษายืน
จำคุก 33 ปี 12 ด. 4 คน จำคุก 1 ปี 1 คน จำคุก 2 ปี 4 คน ยกฟ้อง 2 คน
พิพากษาแก้
จากจำคุก 8 ด.เป็น 2ปี 1 คน จากยกฟ้องเป็นจำคุก2ปี 1 คน
อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด 8 คน
|
จำเลยฎีกา
หมายเหตุ
หน่วยงานรัฐฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายกับจำเลย 8 รายที่มีข้อหาร่วมกันเผาสถานที่ราชการ จำนวน 128 ล้านบาท
(สืบพยานเสร็จเดือนตุลาคม 2557)
| |
มหาสารคาม
จำเลย 10 คน
ได้รับการประกันตัว ก.ค.55
ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำ 9 ราย
|
25 กันยายน 2557
| |||
ข้อหา
พยายามวางเพลิง
|
จำคุก
5 ปี 8 เดือน 9 ราย
ยกฟ้อง 1 ราย
|
พิพากษายืน
|
พิพากษายืน
| |
ขอนแก่น
จำเลย 4 คน
จำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวหลังจากอยู่ในเรือนจำเกือบ 1 ปี
|
อยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ยังไม่มีคำพิพากษา
| |||
ข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์ศาลากลางจังหวัด
คดีล่าช้าเนื่องจากอัยการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด อัยการสูงสุดทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 1-4 ในข้อหาก่อการร้าย แต่ยังคงฟ้องข้อหาอื่
หมายเหตุ คดียังมีอีก 3 คดี นอกจากวางเพลิงเผาทรัพย์
-คดีทำลายทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ
-คดีบุกบ้าน ส.ส.ประจักษ์
-คดีมีบุคคลยิงออกมาจากบ้าน ส.ส.จนเป็นเหตุให้ผู้ประท้วงบาดเจ็บและเสียชีวิต 1 ราย
| ||||
อุดรธานี
จำเลย 22 คน
ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำ 3 คน
|
29 ตุลาคม 2554
|
22 กันยายน 2557
| ||
ข้อหา
-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.
-วางเพลิง
-บุกรุก
|
จำคุก
22 ปี 6 เดือน 1 คน
20 ปี 6 เดือน 2 คน
11 ปี 3 เดือน 1 คน
4 ปี 6 เดือน 1 คน
2 ปี 6 เดือน 3 เดือน
ยกฟ้องที่เหลือ
|
ลดโทษจำคุก
13 ปี 4 เดือน 2 คน
6 ปี 8 เดือน 1 คน
1 ปี 4 เดือน 4 คน
ไม่มาฟังคำพิพากษา 1 คน
|
จำเลยไม่ฎีกา
| |
มุกดาหาร
จำเลย 29 คน
|
27 ตุลาคม 2554
| |||
ข้อหา
-ร่วมกันวางเพลิง
|
จำคุก
20 ปี 13 คน
ยกฟ้อง 16 คน
|
ยังไม่มีคำพิพากษา
|
ยังไม่มีคำพิพากษา
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น