วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ. การยางฯ ด้านรมช.เกษตรฯ หวังดึงยางไม่ต่ำกว่า 60 บาท


11 ธ.ค. 2557 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยร่างพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) ฉบับนี้ได้รับความสนใจจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้มีการอภิปรายและตั้งข้อสังเกตกันอย่างหลากหลาย เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอในการวางยุทธศาสตร์บริหารจัดการยาง การจัดโซนนิ่ง การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนและการปลูกใหม่ ที่มองว่าควรต้องจำกัดการปลูก เรื่องของการวิจัย พัฒนา ศึกษาวิเคราะห์ควรต้องครอบคลุมครบวงจรทั้งยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ต้องการให้เพิ่มผู้แทนจากองค์กรต่างๆ เข้าไปในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย อาทิ ผู้แทนจากด้านอุตสาหกรรม ด้านต่างประเทศ และควรเพิ่มสัดส่วนเกษตรกรสวนยาง/ผู้ประกอบกิจการยาง ควรประสานกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการปลูกยางพารา เพื่อร่วมมือกันเพิ่มมูลค่าของราคายางพาราให้สูงขึ้น วางแนวทางนำยางพารามาประยุคต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตยางลดตลาด พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแนะไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จัดตั้งขึ้นเพื่อ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้หยิบยกผลการศึกษาของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดที่ผ่านมา ที่เคยศึกษารวมรวมไว้แล้วมาประกอบการพิจารณาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการ พิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างมาก
ขณะที่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษาเห็นว่า มีการยกเลิกกฎหมาย 8 ฉบับ แล้วนำมาเขียนรวมเป็นฉบับใหม่ยังมีประเด็นปัญหาข้อเทคนิคทางกฎหมายนอกเหนือ จากที่สมาชิก สนช.เสนอแนะอีกมาก จึงต้องการฝากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยเฉพาะผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาให้ถี่ถ้วน
ด้านอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงว่า จะพยายามอุตช่องโหว่ของการออกกฎหมายตามที่สมาชิก สนช.เสนอ และจะไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องของการควบรวมหรือยุบองค์กรเดิมที่เป็นของรัฐและ รัฐวิสาหกิจ การโอนย้ายบุคลากรและทรัพยากรจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและไม่ส่งผลกระทบ ต่องบประมาณของแผ่นดิน รวมถึงจะได้โอนงานที่เกี่ยวข้องกับด้านต่างประเทศมาไว้ในองค์กรใหม่ด้วย เพื่อให้การประสานกับประเทศเพื่อบ้านง่ายขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่า เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ราคายางพาราจะไม่ลดต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่แน่นอนและจะพยายามไม่ให้ราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม
หลังที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย เสนอแนะและตั้งข้อสังเกตในร่าง พ.ร.บ.การยางฯ แล้ว ที่ประได้มีมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ด้วยคะแนน 173 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้น 25 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ 15 คน จาก กมธ.การพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน 5 คน จากคณะรัฐมนตรี 5 คน ใช้เวลาแปรญัตติ 7 วัน กรอบการดำเนินงาน 30 วัน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น