สิงคโปร์ เป็นรัฐน่าสนใจในแง่การเปลี่ยนผ่านจาก 'โลกที่ 3' สู่ 'โลกที่ 1' ได้อย่างรวดเร็ว ดูเหมือนคนจำนวนมากจะให้เครดิต 'ลี กวนยู' ผู้ล่วงลับ แต่ภาพที่ดูสวยหรูของสิงคโปร์ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นที่เห็น และอนาคตของประเทศที่ไม่ได้มีตัวเขาอยู่อีกแล้วจะเป็นอย่างไร
23 มี.ค. 2558 - หลังการเสียชีวิตของ ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ มีสื่อต่างชาติเป็นจำนวนมากรายงานเกี่ยวกับชีวิตของเขาในฐานะผู้นำคนสำคัญที่มีบทบาทในการทำให้ประเทศสิงคโปร์เป็นอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ไม่เชิงว่าผู้เสียชีวิตจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ สื่อหลายแห่งที่ชื่นชมผลงานของเขายังได้วิพากษ์วิจารณ์อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ โดยเฉพาะในเรื่องการจำกัดเสรีภาพ ขณะเดียวกันก็มีเกร็ดที่น่าสนใจในเรื่องเกี่ยวกับการสถาปนาอำนาจทางวัฒนธรรมและเรื่องของอนาคตสิงคโปร์หลังจากนี้
สื่อต่างชาติหลายแห่งมักจะกล่าวถึง ลี กวนยู ในฐานะผู้ที่เปลี่ยนแปลงประเทศสิงคโปร์จากเกาะที่ลุ่มหนองให้กลายเป็นมหานครที่มีความมั่งคั่งและความเจริญ จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุด
สำนักข่าวควอตซ์ระบุว่า สิงคโปร์เป็นอิสระจากมาเลเซียเมื่อปี 2508 แต่ก่อนหน้านี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์ซึ่งเพิ่งถูกรุกรานโดยญี่ปุ่นจนอยู่ในสภาพวุ่นวาย มีประชากรประกอบด้วยคนค้าขาย อดีตทาส คนหนีคุก และนักธุรกิจ ซึ่งมีความขัดแย้งกันทั้งด้านเศรษฐกิจและเชื้อชาติ แต่ผู้นำสิงคโปร์ในยุคนั้นกลับสามารถเปลี่ยนแปลงแหล่งเสื่อมโทรมให้กลายเป็นตึกระฟ้าที่ทำกำไรให้กับประเทศได้ และทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีเหล่าเศรษฐีเดินทางไป "ใช้เงิน" มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากกาตาร์
สำนักข่าววอลสตรีทเจอนัลระบุว่า ลี กวนยู ทำให้สิงคโปร์พัฒนาขึ้นได้จากการให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ให้โอกาสผู้คนได้สามารถใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่
สื่อต่างชาติยังมอง ลี กวนยู ว่าเป็นผู้นำที่ทำตามความเชื่อมั่นของตน มีความเฉลียวฉลาดอย่างมาก และ ไม่ถูกอำนาจทำให้เสื่อมทราม ก่อนหน้านี้สำนักข่าวไทม์ยังได้ระบุชื่นชม ลี กวนยู เป็นผู้ที่มีความแตกต่างจากผู้นำในกลุ่มชาติอาเซียนตรงที่ "เขาไม่ได้ถูกอำนาจครอบงำจนเสื่อมทรามและไม่อยู่ในอำนาจนานเกินไป"
แต่ ลี กวนยู เป็นผู้ที่น่าชื่นชมขนาดนั้นจริงหรือไม่ ในบทความของสำนักข่าวเดอะ การ์เดียน เขียนโดยบล็อกเกอร์ชาวสิงคโปร์ เคิร์สเตน ฮัน ระบุว่า แม้เธอจะมองลีกวนยูเป็นนักการเมืองที่ยอมเยี่ยม แต่เธอก็ไม่รู้จักเขาดีพอจะบอกว่าเขาเป็นดนดีได้
ทางด้านองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ระบุว่า ในขณะที่สิงคโปร์ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก แต่นั่นน่าจะเป็นเพราะมีสื่อที่กล้าตรวจสอบรัฐบาลน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะลี กวนยูและรัฐบาลยุคหลังจากนั้นที่เขายังมีอิทธิพลอยู่มีการฟ้องร้องสื่อทั้งในประเทศและสื่อจากต่างประเทศ
CPJ ระบุว่าในขณะที่สิงคโปร์เจริญเป็นเมืองมากขึ้น การต่อต้านสื่อจากผู้นำก้มีมากขึ้นตาม มีการออกกฎควบคุมสื่อทางอินเทอร์เน็ต มีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทบล็อกเกอร์ที่ล้อเลียนรัฐมนตรีและตั้งคำถามกับกระทรวงยุติธรรม มีกฎหมายให้เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาทางการเมืองต้องจดทะเบียนกับรัฐบาล
ลี กวนยู ปะทะ สื่อ
แม้ว่าเขาจะเปิดตลาดทางการค้าแต่วอลลสตรีทเจอนัลก็วิจารณ์ว่า ลี กวนยูกลับไม่เปิดโอกาสให้กับ "ตลาดทางความคิด" ทำให้ชาวสิงคโปร์มีเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารน้อยกว่า นอกจากนี้ลียังไม่ค่อยถูกกับสื่อตะวันตกแต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไล่ เขาอยากให้สื่อตะวันตกรายงานเรื่องสิงคโปร์ให้คนในประเทศอื่นได้รับรู้แต่ไม่ชอบให้ทำตัวเป็นผู้สืบสวนรัฐบาลสิงคโปร์ มีสื่อตะวันตกหลายแหล่งเช่น ดิอิโคโนมิสต์ รอยเตอร์ และไทม์ ถูกรัฐบาลสิงคโปร์ฟ้องร้องหรือขู่จะฟ้องร้อง
อย่างไรก็ตามลักษณะการต่อต้านสื่อตะวันตกของ ลี กวนยู มักจะเป็นไปในทางฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเสียส่วนใหญ่ หรือบางครั้งก็สั่งลงโทษด้วยการสั่งลดจำนวนการเผยแพร่ของสื่อนั้นๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าลียังคงมองสื่อด้วยมุมมองแบบหัวเก่า เขาไม่มั่นใจว่าชาวสิงคโปร์จะมีความสามารถยอมรับความคิดเห็นแตกต่างได้มากพออย่างน้อยก็ในยุคเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว
ในเฟซบุ๊คของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุว่ายังมีผู้มองด้านลบของ ลีกวนยู ในแง่ที่เขาเป็นผู้ที่ทำร้ายและกำจัดฝ่ายตรงข้าม รวมถึงสร้างระบบรัฐสภาที่ครอบงำโดยพรรคพรรคกิจประชาชน (PAP) ของตน มาตั้งแต่สมัยปี 2508
ส่วนบทความของ เคิร์สเตน ฮัน ระบุว่า ตัวเธอถูกสอนตั้งแต่เด็กว่าลีกวนยูทำอะไรให้ประเทศชาติมากน้อยเพียงใด แต่ในขณะที่เธออายุประมาณ 20 ปี เธอได้เห็นการจับกุมโดยไม่มีการไต่สวน การสั่งฟ้องหมิ่นประมาท การดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายราคาสูงและสั่งฟ้องล้มละลายคู่แข่งของเขา
"ช่วงวัยรุ่นฉันใช้ชีวิตเรียนรู้เกี่ยวกับวีรบุรุษของพวกเรา แต่ตอนนี้ฉันยิ่งได้รู้มากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับชายผู้ที่ถือขวานเอาไว้ในมือ" เคิร์สเตน ฮันระบุในบทความ
บทความของ เมลานี เคิร์กแพทริก ในวอลสตรีทเจอนัลระบุถึงกรณีหนึ่งที่น่าสนใจมากเมื่อ ลี กวนยู ไม่พอใจวอลล์สตรีทเจอนัลแล้วสั่งให้ลดจำนวนการพิมพ์เผยแพร่แต่ละฉบับลงจากวันละ 5,000 ฉบับเป็นวันละ 400 ฉบับ แต่มีอยู่วันหนึ่งสำนักงานนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ก็โทรถามสำนักงานของวอลล์สตรีทเจอนัลสาขาสังคโปร์ว่าทำไม ลี กวนยู ยังไม่ได้รับวอลล์สตรีทเจอนัลฉบับใหม่ที่เขาสมัครสมาชิกไว้ ตัวแทนของวอลล์สตรีทเจอนัลตอบกลับไปว่าเป็นเพราะการจำกัดจำนวนตีพิมพ์เผยแพร่และ ลี กวนยู ก็จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับผู้สมัครสมาชิกทุกคนโดยไม่ได้รับสิทธิพิเศษ อย่างไรก็ตามเคิร์กแพทริกระบุว่า เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงการที่ ลี กวนยู เองก็ยังสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ และรู้สึกแบบเดียวกับชาวสิงคโปร์ที่ต้องการมีสื่อมากขึ้น
ทางด้าน CPJ ยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่มีการสั่งยุบคอลัมน์ออกจากหนังสือพิมพ์ 'ทูเดย์' ของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยเลขาธิการสื่อของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร โทรคมนาคม และศิลปะ ในยุคนั้นอ้างว่า "มันไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์ที่จะนำประเด็น หรือทำการรณรงค์เพื่อรัฐบาลหรือต่อต้านรัฐบาล"
แต่ทาง CPJ เถียงว่า "ถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าว แล้วมันเป็นหน้าที่ของใครล่ะ"
ตัวตนและสัญลักษณ์ของ 'ลี กวนยู' ในสื่อทางวัฒนธรรม
ถึงแม้ว่า ลี กวนยูเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงานในการสร้างชาติสิงคโปร์ แต่ก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าลีกวนยูไม่ได้สถาปนาตัวเองในแง่การเคารพในตัวบุคคล กล่าวคือถึงแม้ ลี กวนยูจะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในสิงคโปร์ แต่ตัวเขาไม่ได้ใช้อำนาจตรงนี้เมื่อส่งเสริมตัวเองเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมหรือจิตวิญญาณ
อย่างไรก็ตามบทความของฮันระบุว่าในชีวิตของชาวสิงคโปร์ทุกคนมี ลี กวนยู อยู่ทุกมุมจนกระทั่งสำหรับจนกระทั่งวัยรุ่นยังไม่รู้เลยว่ามีใครเป็นรัฐมนตรีด้านไหน "พวกเขารู้จักแต่ชื่อ ลี กวนยู"
เคิร์สเตน ฮัน ระบุอีกว่าชาวสิงคโปร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเรียนรู้เรื่อง ลี กวนยู มีบางคนชอบเขา แต่ก็ยังมีบางคนเกลียดเขาอยู่ดี
รูปภาพและแนวความคิดของ ลี กวนยู ปรากฏอยู่ตามสื่อทางวัฒนธรรมหลายรูปแบบ ส่วนมากเป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติหรือแนวความคิดของเขา มีงานศิลปะในเชิงเชิดชูตัวเขาอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังมีสื่อทางวัฒนธรรมบางส่วนที่เป็นไปในเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือในเชิงตีความ ลี กวนยู ตามแบบของศิลปินเอง เช่นในปี 2556 มีกวีที่ชื่อ ไซริล หว่อง เผยแพร่หนังสือชื่อ "ขนตาของเผด็จการ" เป็นเรื่องแนวเหนือจริง (surreal) ของบุคคลที่มีลักษณะคล้ายลีกับขนคิ้วของเขาต่างก็แสดงความกระหายอำนาจและการเป็นที่รู้จัก
เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มกวีเผยแพร่หนังสือรวมบทกวีชื่อ "ความฟุ่มเฟือยที่พวกเราไม่อาจซื้อหาได้" ชื่อหนังสือนี้เป็นการเสียดสีคำพูดของของ ลี กวนยู ซึ่งเคยกล่าวว่า "บทกวีเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่พวกเราไม่อาจซื้อหาได้...สิ่งที่สำคัญสำหรับนักเรียนไม่ใช่วรรณกรรม แต่เป็นปรัชญาชีวิต"
มีงานจัดแสดงศิลปะเกี่ยวกับลีกวนยูอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ ในปี 2553 มีการจัดแสดงนิทรรศการที่ชื่อ 'Beyond LKY' ในแกลลอรี่ศิลปะวาเลนไทน์วิลลีร่วมกับศิลปินอีก 19 คน โดยมีหัวข้อคือการจินตนาการอนาคตของสิงคโปร์ที่ไม่มีลีกวนยู ศิลปินที่ชื่อจิมมี่ ออง ที่เสียดสีด้วยการวาดภาพ ลี กวนยู ตั้งอยู่บนแท่นบูชาในฐานะที่เป็น "บิดาแห่งสิงคโปร์" พร้อมกับรูปคนตัวเล็กๆ ถามว่า "คุณพ่อได้ยินฉันไหม" ซึ่งก่อนหน้านี้องเคยทำงานศิลปะสะท้อนเรื่องที่อ่อนไหวในสังคมสิงคโปร์มาก่อนเช่นเรื่องการแสดงออกของคนรักเพศเดียวกันซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสิงคโปร์
อนาคตของสิงคโปร์ที่ไม่มี 'ลีกวนยู'
หัวข้อศิลปะดังกล่าวเป็นเรื่องชวนให้คิดต่อ เมื่อไม่มีลีกวนยูแล้วประเทศสิงคโปร์จะเป็นไปในทิศทางไหน เว็บไซต์ควอตซ์ระบุว่า ลี เซียนหลง ที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันต้องเผชิญกับสิงคโปร์ในแบบที่ต่างออกไปจากที่พ่อของเขาเคยเจอเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พรรคกิจประชาชน (PAP) ก็ทำได้แย่ที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แม้จะยังคงมีที่นั่งในสภา 81 จาก 87 แต่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขึ้น การเลือกตั้งในปี 2560 จะเป็นการต่อสู้ที่จริงจังมาก
นอกจากนี้จากผลสำรวจของแกลลัฟโพลล์พบว่ามีประชาชนในสิงคโปร์กำลังมองอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้าในแง่ร้าย นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากเรื่องค่าแรง เพราะถึงแม้ว่าจะมีอัตราจีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทุกปี แต่ค่าแรงของชาวสิงโปร์ทั่วไปดูจะหยุดนิ่ง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเรื่องอัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างมากทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเมืองที่มีแต่ผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงาน โดยควอทซ์นำเสนอว่าสิงคโปร์มีอัตราการจ้างงานคนต่างชาติลดลงเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจการให้คนอพยพเข้าสิงคโปร์จนถึงขั้นมีการประท้วงในประเทศที่มีการประท้วงเกิดขึ้นน้อยมาก
โจเอล คอตคิน ผู้เขียนบทควาทให้ฟอร์บส์มองว่าสิ่งแรกที่สิงคโปร์ต้องทำในการแก้ปัญหายุคหลังจากนี้คือการละทิ้งวิธีการแบบเก่า
จากอีกมุมหนึ่งก็มีคนคิดว่าการไม่สร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลมากเกินไปของลีกวนยู ทำให้เป็นเรื่องที่ดีในแง่ไม่มีการต่อสู้ช่วยชิงอำนาจ ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปอย่างราบรื่น
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตระบุในเฟซบุ๊คว่า "ลีกวนยูเป็นนายกฯ มาหลายสมัย แต่ตัดสินใจลงจากตำแหน่งเพื่อปูทางให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ แม้ในความเป็นจริง ลียังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่มาก แต่การลงจากตำแหน่งก็เพื่อให้การสืบอำนาจต่อเป็นไปอย่างราบรื่น ลดการสร้างลัทธิตัวบุคคลซึ่งเป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แม้คนรุ่นเก่าจะยังชื่นชมลีด้วยใจจริง เพราะสิ่งที่ลีทำนั้น ถือว่าได้เปลี่ยนโฉมหน้าสิงคโปร์ในช่วงเวลาไม่นานนัก แต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มี memory ของการสร้างชาติในยุคก่อน ก็ไม่ได้อาลัยอาวรณ์ต่อการจากไปของลีมากเท่าใด ซึ่งกลับไปสู่จุดที่ว่า สิงคโปร์ไม่ต้องการสร้างลัทธิตัวบุคคล ทำให้การตายของลี แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ แต่ไม่มีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจหลังการตาย คำถามต่อไปอยู่ที่ ที่รัฐบาล PAP จะยังคง legacy ของลีมากแค่ไหนและด้านใด เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในและในภูมิภาคในยุคที่ไม่มีลีอีกแล้ว"
สำหรับชาวสิงคโปร์อย่าง เคิร์สเตน ฮัน แล้ว เธอคิดว่าแม้สิงคโปร์จะไม่มี ลี กวนยู ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศที่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม เธอคิดว่าการจับกุมฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องไม่ฉลาดและไม่เกี่ยวกับความอยู่รอดของสิงคโปร์ด้วยซ่ำ ตรงกันข้ามเธอกลับคิดว่ามันเป็นอันตรายถ้าหากชาวสิงคโปร์จะติดนิสัยปล่อยให้เรื่องการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ในมือของชนชั้นนำแต่อย่างเดียว
"ฉันเชื่อว่าชาวสิงคโปร์จะหาทางออกเองได้ แม้ว่าจะไม่มีเขา (ลีกวนยู)" เคิร์สเตน ฮัน ระบุในบทความ
เรียบเรียงจาก
Lee Kuan Yew vs. the News, Wall Street Journal, 22-03-2015 http://www.wsj.com/articles/melanie-kirkpatrick-lee-kuan-yew-vs-the-news-1427064934
Lee Kuan Yew is gone. Where does Singapore go now?, The Guardian, 23-03-2015 http://www.theguardian.com/world/2015/mar/23/lee-kuan-yew-is-gone-where-does-singapore-go-now
Creating Singapore: The life of Lee Kuan Yew, Quartz, 22-03-2015 http://qz.com/365559/creating-singapore-the-life-of-lee-kuan-yew/
Singapore Needs A New Sling, Forbes, 18-07-2013http://www.forbes.com/sites/joelkotkin/2013/07/18/singapore-needs-a-new-sling/
Lee Kuan Yew's legacy, CPJ, 22-03-2015 http://www.cpj.org/blog/2015/03/lee-kuan-lews-legacy.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น