วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

โฆษก คสช. ซัด ฮิวแมนไรต์วอทช์ อย่าจินตนาการไปเอง ท้าพิจสูจน์ไม่เคยละเมิดสิทธิ ปชช.


พ.อ.วินธัย สุวารี ติงฮิวแมนไรต์วอตซ์ บิดเบือน รัฐบาลไม่ได้จัดการผู้เห็นต่าง แค่ดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมาย แนะควรศึกษาให้ลึก อย่าอคติ และจิตนาการไปเอง ท้าพิจสูจน์ที่ผ่านมาไม่เคยละเมิดสิทธิ ปปช.
18 มี.ค. 2558 - จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวในแถลงการณ์ "Thailand: Drop Charges Against Peaceful Critics" เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการจับกุมและดำเนินคดีกับบรรดาผู้ที่เห็นต่างจากกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ลัก" เมื่อวันที่ 14 ก.พ. และถูกดำเนินคดีขึ้นศาลทหาร รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ศาลทหารต่อพลเรือนนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาวันนี้ (18 มี.ค.) ในรายงานของเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ และ มติชนออนไลน์ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะภาครัฐไม่ได้จ้องจับผู้เห็นต่างอย่างแน่นอน แต่จะบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นต่อผู้ที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการนำไปบิดเบือน ทั้งนี้สังคมจะสงบสุขได้นั้นคนในสังคมต้องเคารพกฎกติกา และภาครัฐเข้าใจผู้เห็นต่างมาตลอดไม่ได้มองเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม
พ.อ.วินธัย อ้างว่า รัฐบาลมีการจัดระบบช่องทางสำหรับให้ผู้มีความเห็นต่างได้แสดงออกอย่างหลากหลายโดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายพันจุดทั่วประเทศซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นระบบ รวมถึงมีผลตอบสนองต่อความต้องการไม่มากก็น้อย มองจากภายนอกอาจต้องศึกษาให้ลึกและรอบด้าน ที่สำคัญไม่ควรให้ความเห็นล้อตามกระแสด้วยมุมมองเชิงอคติ เชื่อว่าหลายประเทศรู้มากขึ้นแล้วถึงบริบทความแตกต่างของประเทศไทย แต่ก็ยังมีบางกลุ่มในไทยยังคงมีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวลักษณะแอบแฝงซ่อน เร้นความต้องการที่แท้จริง เพื่อหลอกล่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะสามารถหยิบไป เป็นประเด็นขยายผลกดพิดันโจมตี
ส่วนข้อเรียกร้องให้เลิกใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีต่อพลเรือนนั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เราดำเนินการเท่าที่จำเป็นโดยมีเพียงเฉพาะ 2-3 ฐานความผิดเท่านั้น เช่น คดีการห้ามชุมนุมตามประกาศ คสช. เพราะการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนละเมิดสิทธิกันอย่างรุนแรง จนถึงขั้นมีการสูญเสียจำนวนมาก นี่คือข้อแตกต่างชัดเจนของไทยกับประเทศอื่นๆ และคดีที่รุนแรงก็จะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง หรือคดีการใช้ความรุนแรง และคดีที่เกี่ยวข้องความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมา เหล่านี้ถึงจะถูกระบุให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารเท่านั้นซึ่งเคยมี แจ้งไว้เป็นประกาศเพื่อให้สังคมได้รับทราบอย่างเปิดเผยขออย่าบิดเบือนใน ลักษณะเหมารวม เงื่อนไขดังกล่าวถูกเสริมเพิ่มเติมเข้ามาตามความจำเป็นจริงที่สอดรับกับ สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ สามารถหยุดยั้งการที่มีคนไม่ดีไปละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วยการใช้ความรุนแรงได้ และเชื่อว่าเป็นการบริหารบ้านเมืองในช่วงไม่ปกติที่ไม่ต่างจากสากลทั่วไป
สำหรับความกังวลในเรื่องความยุติธรรม ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี ประวัติการพิจารณาคดีของศาลทหารในอดีตที่ผ่านมาก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตาม กระบวนการยุติธรรม สำหรับผลการพิจารณาคดีก็ไม่เคยปรากฏพบข้อกังขาใดๆ น่าจะเป็นเพียงมุมมองเดิมๆ ที่ล้าสมัย และไม่เข้าใจระบบกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ที่สำคัญยังไม่ได้มีข้อพิสูจน์อะไรในเชิงจับต้องได้ว่าการพิจารณาคดีจากศาล ทหารจะไม่มีความยุติธรรม นอกจากจะใช้ความรู้สึกจินตนาการไปเองโดยที่ไม่มีเหตุผลที่เป็นรูปธรรม มีโอกาสควรมาศึกษาสังเกตการณ์ดูวิธีการการดำเนินการของศาลทหารก่อน ไม่ใช่ให้ข้อมูลไปโดยไม่มีข้อเท็จจริงอะไร ทำให้สังคมสับสน และอาจถูกมองว่าเหมือนไปก้าวล่วงทางด้านสิทธิความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของศาลทหารได้
“สุดท้ายที่กล่าวว่าไทยยังคงละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของประชาชนต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นเพียงความรู้สึกด้วยมุมมองส่วนบุคคล มั่นใจผลลัพธ์ที่เห็นเชิงประจักษ์ว่ายังไม่พบการละเมิดสิทธิของประชาชนโดย รัฐอย่างแน่นอน ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้ออ้างที่มักถูกหยิบยกมากล่าวเพียงให้เกิดประเด็นให้ สังคมสนใจตามกระแสเท่านั้น” พ.อ.วินธัยกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น