รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตชี้การยกเลิกกฎอัยการศึก ส่งผลบวกทางเศรษฐกิจระยะสั้น แต่การใช้ ม. 44 ส่งสัญญาฯความไม่ปกติและปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
6 เม.ย. 2558 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุผลของการยกเลิกกฎอัยการศึกเกิดผลบวกระยะสั้นต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนในตลาดการเงินแต่การใช้มาตรา 44 ทำให้ผลดีมีข้อจำกัดเนื่องจากยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความไม่ปรกติและความขัดแย้งและปัญหาเสถียรภาพการเมืองยังดำรงอยู่ หากสามารถใช้กฎหมายปรกติได้จะเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนต่อนักลงทุนว่า เมืองไทยมีเสถียรภาพและสถานการณ์กลับสู่ภาวะปรกติทำให้เกิดผลบวกอย่างมากต่อการท่องเที่ยว การลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ยังเป็นเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ขอให้มีการใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไปและต้องสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเป็นการเฉพาะเนื่องจากอำนาจจากมาตรา 44 นั้นเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ควบรวมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ การใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกยังไม่เกิดผลอย่างมีนัยยสำคัญระยะปานกลางและระยะยาวต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศ เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้แม้นอยู่ระดับต่ำกว่าคาดการณ์ และยังไม่มีภาวะเงินฝืดโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 0.2-0.5% และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2-1.3% อยู่ในภาวะใกล้จะเป็นเงินฝืดแต่ยังไม่เป็น เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแต่ยังไม่มีสัญญาณชี้ว่าเกิดภาวะเงินฝืดจากอุปสงค์หดตัวในอนาคตอันใกล้ หากใช้มาตรา 44 ไม่ระมัดระวังอาจจะเกิดเงินฝืดได้ เงินลงทุนจะไหลออกและหนีหาย หากใช้อย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพความสงบและพลักดันปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจสำคัญๆ จะเป็นการวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้ประเทศและไม่มีปัญหาเงินฝืดอย่างแน่นอน
สำรวจงานวิจัยสำคัญๆ พบว่า มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างชัดเจนระหว่างระดับความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพในการประกอบการและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ให้ความเห็นต่อผลของการยกเลิกกฎอัยการศึกษาเกิดผลบวกระยะสั้นต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนในตลาดการเงินหลังจากการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว บริษัทประกันต่างชาติสามารถเปิดรับประกันได้ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกาน่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นส่วนของการลงทุนในตลาดการเงินนั้นจะทำให้กองทุนต่างๆที่มีนโยบายไม่ลงทุนในประเทศที่ประกาศกฎอัยการศึกสามารถกลับเข้ามาลงทุนได้ ระยะสั้นน่าจะทำให้ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทยคึกคักขึ้นเล็กน้อย
แต่การใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกทำให้ผลดีของการยกเลิกกฎอัยการศึกมีข้อจำกัดเนื่องจากยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความไม่ปรกติและความขัดแย้งรุนแรงและปัญหาเสถียรภาพการเมืองยังดำรงอยู่ หากสามารถใช้กฎหมายปรกติได้จะเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนต่อนักลงทุนว่า เมืองไทยมีเสถียรภาพและสถานการณ์กลับสู่ภาวะปรกติทำให้เกิดผลบวกมากกว่าต่อการท่องเที่ยว การลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ยังเป็นเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย ส่วนการลงทุนในภาคการผลิตและภาคเศรษฐกิจจริงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงเมื่อการเมืองกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้นอกจากเร่งรัดการลงทุนภาครัฐแล้ว ควรมีมาตรการลดหย่อนภาษีชั่วคราวเพื่อกระตุ้นการลงทุนโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ขอให้มีการใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไปและต้องสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเป็นการเฉพาะเนื่องจากมาตรา 44 นั้นเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ควบรวมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ต้องใช้เพื่อพลักดันการปฏิรูปประเทศทางด้านต่างๆโดยเฉพาะที่หากทำตามขั้นตอนปรกติแล้วพบอุปสรรคมากหรือมีความล่าช้าไม่ทันต่อการแก้ปัญหาหรืออาจมีการต่อต้านของกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษี การแก้ปัญหาการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การจัดการเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมาย ขบวนการค้ายาเสพติด เป็นต้น ยิ่งมีอำนาจมากและมีการตรวจสอบถ่วงดุลน้อย ยิ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ มาตรา 44 ควรนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดความปรองดองและเอกภาพแห่งชาติและต้องยึดหลักความเป็นธรรมในการดำเนินการ
ผศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้สังคมทั้งสังคมโดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงช่วยกันจับตา ติดตาม ตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้การใช้อำนาจอยู่ท่ามกลางสายตาของประชาชนส่วนใหญ่ การใช้อย่างบิดเบือนไม่เป็นธรรมไม่ถูกต้องก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนและส่วนรวมรวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะหากมีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากและมีผลกระทบยาวนานเนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นต่อระบบกฎหมายของประเทศได้ การที่ทั้งสังคมต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบเพราะมาตรา 44 มีการระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจภายใต้มาตรานี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติและทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้งหรือตรวจสอบ หมายความว่า สามารถที่จะออกกฎหมายหรือกลับคำพิพากษาได้ (หากไม่มีเหตุผลหรือความชอบธรรมมากพอจะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมและระบบยุติธรรมของประเทศได้)
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตกล่าวทิ้งท้าย การยกเลิกกฎอัยการศึกและการใช้มาตรา 44 แทนยังไม่เกิดผลอย่างมีนัยยสำคัญระยะปานกลางและระยะยาวต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศ เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้แม้นอยู่ระดับต่ำกว่าคาดการณ์ และยังไม่มีภาวะเงินฝืดโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 0.2-0.5% และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2-1.3% อยู่ในภาวะใกล้จะเป็นเงินฝืดแต่ยังไม่เป็น เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแต่ยังไม่มีสัญญาณชี้ว่าเกิดภาวะเงินฝืดจากอุปสงค์หดตัวในอนาคตอันใกล้ หากใช้มาตรา 44 ไม่ระมัดระวังอาจจะเกิดเงินฝืดได้ เงินลงทุนจะไหลออกจำนวนมาก ในช่วงไตรมาสสามปีนี้ ช่วงปลายเดือนเมษายนต่อเนื่องต้นเดือนพฤษภาคม บริษัทจดทะเบียนของไทยจะจ่ายเงินปันผลโดยรวมประมาณ 2.2 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนที่นักลงทุนต่างชาติจะได้รับเงินปันผลประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มที่นักลงทุนต่างชาติอาจโยกเงินออกส่งผลกดดันทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมทะยอยปรับพอร์ตลงทุนเพื่อรองรับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯในเดือนกันยายน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอาจเพิ่มขึ้น แต่หากใช้ ม. 44 อย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพความสงบและพลักดันปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจสำคัญๆ จะเป็นการวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้ประเทศและจะไม่มีปัญหาเงินฝืดและไม่มีเงินไหลออกอย่างผันผวน
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวอ้างงานวิจัยสำคัญต่างๆเช่น Barro (1996), Glasure, Lee and Norris (1999), Plumper and Martin (2003), Doucouliagos and Ulubasoglu (2008), Rodrik and Wacziarg (2005) เป็นต้นแสดงถึง ความสัมพันธ์ของระดับประชาธิปไตย การใช้กฎอัยการศึกษาและการจำกัดเสรีภาพ(การปกครองแบบรวมอำนาจ) กับ การพัฒนาเศรษฐกิจ พบข้อสรุปจากงานวิจัยสำคัญๆ สอดคล้องกันว่า “ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยทำให้เสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าระบอบอำนาจนิยมหลายเท่าตัวเพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสรีภาพในการประกอบการ เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทำให้เกิดนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับสูง ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง เสถียรภาพของสังคมสูงกว่า ความแตกแยกต่ำกว่า สถาบันต่างๆมีความเข้มแข็งและธนาคารกลางมีความเป็นอิสระมากกว่า การเป็นประชาธิปไตยมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านสี่ช่องทางคือ ทุนกายภาพดีกว่า ทุนมนุษย์สูงกว่า ทุนทางสังคมและการเมืองมากกว่าระบอบอำนาจนิยม (Persson and Tabellini 2006)
นอกจากนี้ระบอบประชาธิปไตยยังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบอบอำนาจนิยม (Rodrik 2007) อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถผลักดันนโยบายสาธารณะดีๆที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวได้หากต้องเสียคะแนนนิยม ขณะที่ปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้งและการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวอ่อนด้อยลงทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล การทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นจึงต้องปฏิรูปกระบวนการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองให้สามารถคัดกรองคนดีมีความรู้ความสามารถสู่ระบบการเมือง ทำให้พรรคการเมืองพัฒนาสู่ความเป็นสถาบัน ให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดลงด้วยรัฐประหารเป็นระยะๆ ย่อมทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและมีคุณภาพในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน และไม่ทำให้เกิดเผด็จการจากการเลือกตั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น