วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ค้านควบรวม 'กรรมการสิทธิ์'



Fri, 2015-04-17 17:09

ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยควบรวมกับ กสม. วอน กมธ. ยกร่างฯ และผู้เกี่ยวข้องทบทวน ยืนยันงานไม่ซ้ำซ้อน ชี้ ควบรวมมีผลเสียมากกว่าผลดี จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

17 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ นายบูรณ์ ฐาปณดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยที่จะให้ควบรวมสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามความเห็นของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

นายศรีราชา กล่าวว่า ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่เพื่อประชาชน การไม่ควบรวมน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากจะมีแนวโน้มให้ทำงานไม่เป็นอิสระเหมือนเดิมและยากขึ้น และมีสิ่งที่ขัดกัน ทั้งเรื่องอำนาจและการบริหารภายในองค์กร อาจเกิดปัญหา 2 มาตรฐาน และว่า ที่ผ่านมามีกรรมาธิการหลายคณะเชิญผู้ตรวจการฯ ไปชี้แจง ซึ่งได้ยืนยันจุดยืนไปว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม

“ไม่ใช่เราไม่ฟังเสียงกรรมาธิการยกร่างฯ แต่เราแสดงเหตุผลที่เราเห็นตรงกับ กสม. ตอนนี้ถือว่าเราลงเรือลำเดียวกัน คือไม่เห็นด้วยให้ควบรวม บทบาทของ 2 องค์กร ไม่มีส่วนไหนซ้ำซ้อน มีเพียงเชื่อมโยงคาบเกี่ยวเล็กน้อย เรากับ ป.ป.ช.และสตง. ยังถือว่าทำงานซ้ำกันมากกว่า แต่การประสานงานกัน ทำให้การทำงานไม่มีปัญหา” นายศรีราชา กล่าว

นายศรีราชา กล่าวว่า การควบรวมจะทำให้ความมีตัวตนหรืออัตลักษณ์ขององค์กรหายไป และทั่วโลกถึงร้อยละ 90 ไม่มีการควบรวม ขณะที่ ในเวทีอาเซียน ไทยได้รับเกียรติเป็นประธานสมาคมผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเชีย หากมีการยุบรวม ไทยจะไม่อยู่ในสมาคม โอกาสที่จะสามารถทำได้ดีในสายตาชาวโลกก็จะเสียไป

“นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้รับการยอมรับจากสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินโลก (IOI) ที่มีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ จัดการประชุม World conference ปีหน้า ซึ่งน่าเสียดายงาน ที่ต่างประเทศให้การยอมรับ และชื่อเสียงเกียรติยศจะหายไป ขณะนี้ มีหลายประเทศสอบถาม หลังรับทราบข่าว” นายศรีราชา กล่าว

นายศรีราชา กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งของการควบรวม ที่ระบุว่าจะประหยัดงบประมาณ ก็ไม่จริง เพราะทั้ง 2 องค์กรได้รับงบประมาณไม่มากนัก และการที่จะมีองค์กรใหม่ขึ้นมา จะทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณมากขึ้น และว่า การเพิ่มบทบาทอำนาจการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะทำให้เพิ่มศักยภาพการทำงาน แต่การรวมกันอาจทำให้ศักยภาพลดลง เพราะมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับมากกว่าสิ่งอื่น

ด้าน นายรักษเกชา กล่าวว่า หากควบรวมกัน ความคล่องตัวในการแก้ปัญหาจะสะดุด และอาจมีการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง และจะส่งผลกระทบหลายด้านชัดเจน จึงต้องการให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและผู้เกี่ยวข้องทบทวนอีกครั้ง ให้คง 2 องค์กรไว้ดังเดิม และไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น