วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

อดีตผู้นำ นศ. สิงคโปร์ วิจารณ์ 'ลีกวนยู' เป็นเผด็จการนักสร้างภาพ


Tue, 2015-03-31 23:47


อดีตผู้นำ นศ. ที่เคยถูกรัฐบาลสิงคโปร์ตั้งข้อกล่าวหาจนต้องลี้ภัยทางการเมืองเขียนบทความถึงการเสียชีวิตของลีกวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ และตัวเขาคิดว่าสิงคโปร์ประสบความสำเร็จได้เองโดยไม่ต้องมีลีกวนยู

31 มี.ค. 2558 ตันหัวเปียว (Tan Wah Piow) อดีตผู้นำนักศึกษาสิงคโปร์ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ลอนดอนในปี 2530 เขียนบทความตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับการยกย่อง โดยแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปว่าการเสียชีวิตของลีกวนยูจะทำให้ประชาชนชาวสิงคโปร์เป็นอิสระ

ตันหัวเปียวต้องลี้ภัยเพราะเคยถูกรัฐบาลสิงคโปร์ในยุคนั้นกล่าวหาว่าเขาร่วม "สมคบคิดลัทธิมาร์กซิสม์" (Marxist Conspiracy) ซึ่งมีคนถูกทางการสิงคโปร์จับกุมด้วยข้ออ้างนี้ 16 ราย เขาระบุในบทความว่าในชีวิตของลีกวนยูเขามีความเป็นห่วงอยู่เรื่องเดียวคือต้องการให้ประชาชนในชาติกลัวเขาทำให้เขาไม่มีเพื่อนร่วมงานมีแต่ลูกสมุน

ในแง่ที่ลีกวนยูถูกยกย่องให้เป็นผู้นำเผด็จการที่ประสบความสำเร็จโดยยังคงสร้างภาพความเป็นประชาธิปไตยและการมีหลักนิติธรรมได้นั้น ตันหัวเปียวมองว่าการที่ "สิงคโปร์โมเดล" ประสบความสำเร็จได้เป็นเพราะนครรัฐสิงคโปร์มีที่ตั้งที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในแง่ของการเป็นท่าเรือ รายล้อมด้วยประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากร นอกจากนี้ยังเป็นเพราะประชาชนที่มีความอุตสาหะและขยันขันแข็งอีกด้วย

ตันหัวเปียวระบุว่า สิ่งที่ลีกวนยูประสบความสำเร็จคือการสร้างความเชื่อผิดๆ ว่ามีแต่ตัวเขาคนเดียวเท่านั้นที่เป็นบิดาผู้ก่อตั้งบุกเบิกสิงคโปร์ แต่ความเชื่อนี้จะค่อยๆ ลบเลือนไปหลังการเสียชีวิตของเขา

"สำหรับคนที่ต้องการเป็นที่หวาดกลัวมากกว่าจะเป็นที่รัก ครอบครัวของเขาและสมุนของเขาที่ตอนนี้กำลังไว้ทุกข์ให้กับการเสียชีวิตของเขาก็ไม่ควรแปลกใจถ้าหากมีผู้เฉลิมฉลองการเสียชีวิตของเขาในฐานะเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จะทำให้ประชาชนเป็นอิสระในที่สุด" ตันหัวเปียวระบุในบทความ

"การเสียชีวิตของลีกวนยูจะปลดล็อกผู้คนออกจากข้อห้ามและปลดปล่อยผู้คนออกจากความหวาดกลัว ความหวาดกลัวจะถูกลงโทษทางการเมืองทำให้ชาวเมืองและผู้อาศัยในสิงคโปร์ 'ง่อยเปลี้ย' อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น ซึ่งความกลัวนี้ส่งผลไปถึงทั้งคนที่ร่ำรวยมากและคนที่ฉลาดมาก แม้กระทั่งผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงก็ยังกลัวที่จะแสดงความเห็นต่าง" ตันหัวเปียวระบุในบทความ

ตันหัวเปียววิเคราะห์อีกว่าพรรคกิจประชาชน (PAP) ที่ได้รับอานิสงค์จากการค้ำจุนโดยลีกวนยูมาตลอด 50 ปี ก็จะมีความสามารถในการครอบงำทางการเมืองลดลง และการเป็นชนชั้นนำทางการเมืองของพวกเขาก็ไม่ได้ง่ายอีกต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Tan_Wah_Piow

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น