นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. ระบุว่าไม่สามารถใช้มาตรา 44 มาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การแก้ไขอยู่ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับนักการเมืองไม่สามารถลงพื้นที่ทำกิจกรรมการเมืองได้ ยกเว้นร่วมประชุมปรองดองกับสภาปฏิรูป พร้อมขอร้องครูทั่วประเทศอย่าเคลื่อนไหวกดดันกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินทำข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา
7 พ.ค. 2558 - วันนี้ เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปประเด็นสำคัญในเว็บไซต์รัฐบาลไทยมีดังนี้
1. เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญที่วางไว้ ส่วนจะแก้ไขหรือไม่แก้รัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรานั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวเองไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ ทางคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เสนอข้อคิดเห็นแต่ละมาตราของรัฐธรรมนูญส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไปถ้ามีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ จะเป็นขั้นตอนการลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เห็นด้วยต้องกลับมาเริ่มต้นร่างใหม่อีกครั้ง ถ้าทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน จะเป็นขั้นตอนของการทำประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 3 พันล้านบาท และใช้เวลาในการดำเนินประมาณ 1 – 3 เดือน ถึงจะประกาศเป็นรัฐธรรมนูญได้ แล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งภายใน 90 วัน พร้อมกล่าวยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ขอให้ทุกคนช่วยกันเพื่อนำพาประเทศชาติเดินไปข้างหน้า และมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและสงบสุขอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงขั้นตอนของการลงประชามติของประชาชนเกี่ยวกับการลงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองไม่สามารถลงพื้นที่ไปพบปะกับประชาชนเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง แต่สามารถเข้าร่วมประชุมในการสร้างความปรองดองกับสภาปฎิรูปแห่งชาติได้
2. เรื่อง ครูทั่วประเทศนัดแต่งชุดดำคัดค้าน กรณีนายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ว่าการปฏิรูปการศึกษาที่จำเป็นจะต้องร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ 13 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องกระจายอำนาจจัดการการศึกษาสู่ท้องถิ่นโดยถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปอยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเพียงข้อเสนอในสภาปฎิรูปยังไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ต้องผ่านการพิจารณาตามวาระอีกหลายขั้นตอน พร้อมขอความร่วมมือครูทั้งประเทศอย่าออกมาเคลื่อนไหวกดดันการทำงาน
3. เรื่อง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 58 – 59 ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวผ่านการพิจารณาแล้ว ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะโอนอำนาจทั้งหมดกลับไปให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำดำเนินการไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติต่อไป
4. เรื่อง การช่วยเหลือชาวโรฮิงญา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นเรื่องของขบวนการข้ามชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะอำนวยความสะดวกให้ชาวโรฮิงญาเดินทางไปยังประเทศที่สาม ในกรณีชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าประเทศเพราะประเทศไทยเป็นประเทศอยู่ตรงกลาง และมีบุคคลอยู่เบื้องหลัง ต้องนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ประชาชาติธุรกิจ เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเรื่องประชามติว่า การทำประชามติต้องใช้เงินกว่า 3 พันล้านบาท เงินสามพันล้านอันเก่าไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ สามพันล้านใหม่มาอีก แล้วถ้าไม่ผ่านอีกทีก็ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ แล้วก็ต้องทำประชามติใหม่กันอีกรอบหนึ่ง เสียเงิน สามพันล้านอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐมีเงินเพียงพอในการทำประชามติหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้าอยากให้ทำประชามติ ก็ต้องยอมรับสภาพและใช้เงินที่มีอยู่ แทนที่จะนำเงินไปทำอะไรที่มันเข้มแข็ง เอาเงินไปซื้อวัสดุ ไปลดต้นทุนชาวนา แต่ต้องมาทำเงินหายไปครั้งละ 3 พันล้านหลายครั้ง แล้วมันได้อะไรขึ้นมากับตรงนี้หรือไม่ ตนเองก็ยังไม่รู้ แต่อาจจะได้ก็ได้นะ ถ้าถามตนว่าคนจะยอมรับทั้งหมดหรือไม่ ก็ไม่หมดหรอก เผลอๆ ก็เท่าเดิม ผ่านไม่ผ่านจะยอมรับไปก่อนหรือไม่ นั่นแหละอันตราย ถ้าผ่านก็ต้องผ่านทั้งหมด ไม่ผ่านก็ไม่ผ่านทั้งหมด นั่นแหละถึงจะเลิกทะเลาะกันเสียที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น