8 พ.ค.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 12/2558 เรื่องให้ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งต่อไป
โดยระบุว่า ตามที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2549 แต่งตั้งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ในเดือน พ.ค. 2558 ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช.อีก 4 คน ได้แก่ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยฉบับเดียวกัน ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 21 ก.ย. 2558 และเพื่อไม่ให้การสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการ 2 ครั้ง ซึ่งจะสิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น จึงให้ดำเนินการสรรหาบุคคลในคราวเดียวกัน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 หัวหน้า คสช.จึงมีคำสั่งให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช.ต่อจนถึงวันที่ 21 ก.ย. 2558
รวมทั้ง หัวหน้า คสช.ยังมีคำสั่งที่ 13/2558 เรื่องการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. โดยประกาศ คสช.ฉบับที่ 48/2557 เรื่องการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง กำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการ ป.ป.ช. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างดำเนินการสรรหาตามเกณฑ์และวิธีการที่เคยดำเนินมาตามรัฐธรรมนูญ 2550 และหากการสรรหาไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใดที่ต้องเป็นคณะกรรมการสรรหาให้ใช้คณะกรรมการเท่าที่มีอยู่
ทั้งนี้มาตรา 246 วารค 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา 5 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน แต่ปรากฎว่าขณะนี้ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน อีกทั้งประธานศาลปกครองสูงสุดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากถูกพักราชการตามมติตุลาการศาลปกครอง ดังนั้นจึงต้องแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา โดยเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหาร เพื่อให้คณะกรรมการสรรหามีความหลากหลายสมดุล มีอำนาจจาก 3 ฝ่าย จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 มีคำสั่งให้คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภานิติบัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น