โฆษก กมธ. ยกร่างฯ เผยที่ประชุมเห็นควรทำประชามติร่าง รธน. เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ย้ำถ้าได้ทำต้องส่งเอกสารให้ ปชช. ศึกษาก่อน 90 วัน ด้านวิป สปช. เห็นด้วยกับประชามติทั้งฉบับ
13 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า คำนูณ สิทธิสมาน พร้อมด้วย พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งหนังสือเสนอความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เห็นตรงกันว่าควรให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในวันนี้ (13 พ.ค. 58)
ด้านพลเอกเลิศรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบและเพื่อให้สอดคล้องกับ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นของทุกคนและฉบับที่ผ่านมาก็เคยทำประชามติ เช่นกัน ทั้งนี้การทำประชามติจะต้องส่งเอกสารให้ประชาชนได้ศึกษาก่อนลงเสียงประชามติ ใน 90 วัน โดยคาดว่าน่าจะมีการทำประชามติหลังวันที่ 6 สิงหาคม ส่วนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า มีหลายช่องทางที่จะสามารถดำเนินการและใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้ แต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้เสนอหรือกำหนด เพียงแต่เห็นควรให้มีการทำประชามติเท่านั้น
ขณะเดียวกัน เว็บข่าวรัฐสภา อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมวิป สปช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นว่าควรมีการออกเสียงลงประชามติร่าง รธน.หรือไม่ว่า จากการหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการ 18 คณะและคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 คณะของ สปช. ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยให้มีการออกเสียงทำประชามติ และเห็นควรให้ทำประชามติทั้งฉบับภายหลัง สปช.ให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการจะต้องรอบครอบ รอบรู้ มีการทำความเข้าใจในสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ใช้สิทธิออกเสียงอย่าง เข้าใจในตัวบทบัญญัติของ รธน. ซึ่ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ให้ความรู้กับประชาชน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่จะดำเนินการจัดทำการออกเสียงประชามติจะต้องวางกติกา กฎเกณฑ์การออกเสียงอย่างโปร่งใส ยอมรับได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น