วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เขากลัวว่า เขาจะไม่สามารถจัดการเวลาได้

ในงานมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. นั้น เดิมมีกำหนดจะจัดงานที่โรงละคร หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ก่อนหน้างานเพียงหนึ่งวัน ทางคณะวิจิตรศิลป์ได้แจ้งว่าโรงละครกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม จึงไม่สะดวกให้ใช้สถานที่ ทำให้ผู้จัดงานย้ายมาจัดงานในพื้นที่เอกชนแทน โดยในงานวิทยากรได้กล่าวคนละ 10 นาที เพื่อตอบโจทย์ว่า "หากมองไปในอนาคต ถ้าหากมีรัฐบาลประชาธิปไตย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการเมืองและประชาธิปไตยที่ดี" นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)และจากนั้นมีการร้องเพลง "Do You Hear the People Sing?" แปลเนื้อร้องโดย สุขุม ยังวัน


เพลง Do You Hear the People Sing?


นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวปิดงาน

หลังจบเพลง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวปิดงานว่า พยายามนึกว่าที่ทหารกลัวและทำให้งานนี้จัดที่หอศิลป์ ถ.นิมมานเหมินท์ ไม่ได้นั้น เขากลัวอะไรกันแน่ ทั้งนี้ เขาบอกว่าเขากลัว แต่เขาไม่ได้กลัวผม แต่เขากลัวคนที่มาพูดทั้งหลาย พวกท่านเคยไปทำอะไรไว้ผมก็ไม่ทราบ เขากลัวพวกท่านมากกว่า เขาเห็นชื่อแล้วคงจัดไม่ได้ ผมพยายามจะนึกว่าเขากลัวอะไร ผมก็เลยมานึกออกและอาจจะตอบคำถามนี้ด้วยในตัว คือจริงๆ แล้วเขากลัวว่า เขาจะไม่สามารถจัดการเวลาได้ ในประเทศเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าตั้งแต่ปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองของไทย พยายามในการจัดการเวลาของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง วิธีในการที่ชนชั้นปกครองจะจัดการเวลาในประเทศไทยใช้ คือ จัดการอดีต  ให้เป็นเรื่องเล่าที่เขาเป็นฝ่ายเล่า แล้วให้ทุกๆ คน จดจำอดีตของตนเอง ตามเรื่องเล่าของเขา
สืบมาจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีนักประวัติศาสตร์ ครูสอนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตนคนเดียว ที่เริ่มมาตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเหล่านั้น ว่ามันเป็นอดีตที่ไม่จริง อดีตที่คับแคบเกินไป ทำให้ทุกคนสูญเสียอดีตที่แท้จริงของตนเอง

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำให้ทุกคนมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เขาจะไม่มีทางเลือกสำหรับปัจจุบันและอนาคตเลย ฉะนั้นเมื่อไรที่มีคนมาตั้งคำถามว่าอดีตที่เขาเล่ามันไม่จริงหรือคับแคบเกินไป มันคือการท้าทายการจัดเวลา ไม่ใช่อดีตอย่างเดียว แต่การจัดเวลาในปัจจุบันและอนาคตด้วย สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นและรุนแรงขึ้น คงจำคำพิพากษาของศาลในกรณีที่มีดีเจกล่าวว่าปัจจุบันเราไม่ได้มีทาสเหมือนรัชกาลที่ 4 ศาลลงโทษว่าบุคคลผู้นี้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 นี่เป็นครั้งแรกที่ ม.112 ถูกตีความถึงพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลานี้ มันแปลว่าการท้าทายเรื่องเล่าในอดีต มันรุนแรงจนคุณต้องขยายให้ม.112 ไปครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ นี่เป็นคำพิพากษาที่แสดงความตกใจที่คนอื่นๆ แทรกเข้ามาจัดการเวลาด้วย แล้วจากคำพิพากษาก็กลายเป็นการยึดอำนาจบ้านเมือง
รัฐประหารครั้งนี้เป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะจัดเวลาอดีต เวลาปัจจุบันก็ใช้กำลังอำนาจยึดอำนาจรัฐ จัดการปัจจุบัน เช่น ไม่ยอมให้จัดเสวนา จัดพูดต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าพยายามจัดการอนาคตไปด้วย แต่บัดนี้กลวิธีที่เคยใช้ได้ผลมาร้อยกว่าปีคือการยึดกุมอดีตมันใช้ไม่ได้แล้ว จึงต้องใช้อำนาจตรงๆ เลยในการเข้ามายึดกุมปัจจุบันและอนาคตด้วย จึงคิดว่าไม่มีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะมืดมิดถึงขนาดนี้ แต่เชื่อว่ามันจะไม่มืดสนิทและมีแสงสว่างขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น