ประยุทธ์ เผยมติ คสช.-ครม. ให้แก้ รธน. ชั่วคราว เปิดช่องทำประชามติร่าง รธน. ฉบับใหม่ ย้ำ คสช. จะไม่ยุ่งกับกระบวนการ
19 พ.ค. 2558 ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงว่า มติการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้ทำประชามติ ทั้งนี้ยังคาดไม่ได้ว่าจะทำประชามติในเดือนไหน แต่กรอบเวลาจะเหมือนประชามติที่เคยทำกันมา ซึ่งโรดแมปก็ต้องเลื่อนออกไปอยู่แล้วถ้ามีการทำประชามติ โดยการทำประชามตินั้น คสช.จะไม่เข้าไปยุ่ง
ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่ประชุมมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติในอนาคตโดยเร็วซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่ง ครม.และคสช.จะเป็นผู้เสนอแก้ไขโดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แก้ไขเพิ่มเติมภายใน15 วัน ทั้งนี้การทำประชามติขึ้นอยู่กับการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในวันที่ 6 ส.ค. ด้วย
ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการในการจัดการทำประชามติ โดยจะต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและแจกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 47 ล้านคน ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 เดือน นอกจากนี้จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน อีก 1 เดือน ทำให้การทำประชามติอาจใช้เวลาออกไป 3-4 เดือน โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งไม่อาจกำหนดวันที่แน่ชัดได้แต่จะไม่เกิน เดือนมกราคม ปี 2559 ซึ่งการทำประชามติมีข้อเสียในเรื่องของงบประมาณในการทำที่สูงถึง 3,000 ล้านบาท และทำให้ต้องยืดเวลาออกไปและอาจเกิดการรณรงค์บางอย่างที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งได้ จึงต้องฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
ทั้งนี้หากการทำประชามติผ่านความเห็นชอบในเดือน ม.ค. 2559 ก็จะต้องมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยโดยคาดว่าจะใช้เวลารวม 4 เดือน ก่อนมีการประกาศใช้ และต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน หรือภายในเดือน ส.ค. ถึง ก.ย.
วิษณุ ระบุด้วยว่า ที่ประชุมร่วม ครม.-คสช.ได้เสนอให้เพิ่มเวลาในการแก้ไขจากเดิมเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีกรอบเวลาเพียง60 วัน เป็น 90 วัน เนื่องจากมีฝ่ายต่างๆเสนอให้แก้ไขจำนวนมาก ที่ประชุมจึงเห็นว่ามีความสำคัญจึงจัดประชุม ครม.นัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. พร้อมกันนี้จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลการร่างรัฐธรรมนูญด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น