Wed, 2015-07-01 19:27
ทีมข่าวการเมือง
ไล่เรียงเหตุการณ์การก่อตัวขึ้นของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร จนถึงวันที่ถูกจับกุมตัว
แม้จะมีความเสี่ยงที่จะถูกจำคุกเป็นเวลา 7 ปี + 6 เดือน ภายใต้กระบวนการยุติธรรมบนศาลทหาร แต่นักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่(New Democracy Movement-NDM) ยังคงยึดมั่นในแนวทางของพวกเขา ภายใต้หลักการ 5 ข้อคือ 1.หลักประชาธิปไตย 2.หลักความยุติธรรม 3.หลักการมีส่วนร่วม 4.หลักสิทธิมนุษยชน และ5.หลักสันติวิธี พร้อมกับการประกาศอารยะขัดขื่น จนถึงวันที่ถูกจับกุม
กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือ การออกมาแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น และที่หอศิลปวัฒธรรมกรุงเทพมหานคร
การออกมาเคลื่อนไหวที่ขอนแก่นเป็นกิจกรรมของ 7 นักศึกษากลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการชูป้ายผ้าที่ระบุข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวผลพวง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ จากการทำรัฐประหาร และพวกเขาก็ถูกจับกุมภายในเวลาไม่นาน โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทั้งใน และนอกเครื่องแบบหลายสิบคน ก่อนถูกต้องข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และได้รับประกันตัวในวันรุ่งขึ้น
ขณะ การเคลื่อนไหวที่ หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เป็นกิจกรรมของนักศึกษา และนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม ที่รวมตัวกันเฉพาะกิจ โดยกิจกรรมที่พวกทำชื่อกิจกรรมว่า “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?” เป็นการนัดหมายกันมายืนดูนาฬิกา โดยสงบเป็นเวลา 15 นาที เพื่อรำลึกถือหนึ่งปีที่ผ่านมาว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้าง แต่แล้วเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก่อนถึงเวลานัดหมาย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 1 กองร้อย เฝ้าประจำการอยู่บริเวณหน้า หอศิลป์ฯ พร้อมกับมีแผงเหล็กกั้น ห้ามเข้าในบริเวณที่จะมีการจัดกิจกรรม
- 18.20 น.นัชชชา กองอุดม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปพูดคุย ก่อนจะถูกอุ้มขึ้นรถขอเจ้าหน้าที่ เพื่อควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน ต่อมาเวลา 19.00 น. มีนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรม ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวไปทั้งหมด 9 คน ขณะที่ยังมีนักศึกษา นักกิจกรรมอีกประมาณ 20 คน นั่งคล่องแขน ล้อมวง และร้องเพลงเพื่อมวลชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวเพื่อนที่ถูกควบคุมตัวทั้งที่ขอนแก่น และกรุงเทพฯ
ขณะที่รอบนอกห้อมล้อมไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ราว 100 คน จากนั้นเวลาประมาณ 21.00 นักศึกษา และนักกิจกรรมทุกคน ได้ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวมาที่ สน.ปทุมวัน และถูกปล่อยตัวออกมาในเช้าวันรุ่งขึ้น รวมทั้งสิ้นมีผู้ถูกจับกุม 37 คน โดยไม่มีใครถูกตั้งข้อกล่าวหาในวันนั้น ก่อนที่จะมีนักศึกษา นักกิจกรรม จำนวน 9 คน ได้รับหนังสือเรียกตัวให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 8 มิ.ย. 2558
ทั้งสองเหตุการณ์นี่กลายเป็นชนวนใหญ่จุดหนึ่ง ที่ทำให้ขบวนกรประชาธิปไตยใหม่ก่อตัวขึ้น ก่อนจะประกาศตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มิ.ย. 2558 พร้อมกับการประกาศอารยะขัดขื่นของ 7 นักศึกษาจากกลุ่มดาวดิน
กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement-NDM) เป็นกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม จากหลากหลายกลุ่มที่มารวมตัวกัน อาทิ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย(LLTD) กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน(CCP) กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ฯลฯ รวมทั้งชาวบ้านที่รับผลพวง ผลกระทบจากการทำรัฐประหาร ทั้งจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูลสาด จังหวัดขอนแก่น และอีกหลากหลายกลุ่มรวม 20 องค์กร
ไล่เรียงเหตุการณ์ จากครบรอบหนึ่งปี รัฐประหาร จนถึงวันที่ถูกจับกุม
- 22 พ.ค. 2558 - มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักกิจกรรม 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ดาวดิน 7 คน ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ที่อนุสารีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น และกลุ่มหน้าหอศิลปฯ ทำกิจกรรม “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ” เป็นการนัดรวมตัวมายืนมามองนาฬิกา เป็นเวลา 15 นาที เพื่อรำลึกถึงประเทศไทย ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่าน จากเหตุการณ์ทั้งสอง มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาที่ขอนแก่น 7 คน และที่กรุงเทพ 37 คน ซึ่งในจำนวน 37 คน ต่อมาถูกตั้งข้อกล่าวหา 9 คน
รายชื่อผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาประกอบด้วย
9 คนที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย
- 1.พรชัย ยวนยี
- 2.ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์
- 3.รัฐพล ศุภโสภณ
- 4.ปกรณ์ อารีกุล
- 5.อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์
- 6.รังสิมันต์ โรม
- 7.ชาติชาย แกดำ
- 8.นัชชชา กองอุดม
- 9.ชลธิชา แจ้งเร็ว
7 คนที่ขอนแก่น ประกอบด้วย
- 1.ศุภชัย ภูครองพลอย
- 2.อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์
- 3.ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์
- 4.วสันต์ เสตสิทธิ์
- 5.จตุรภัทร บุญภัทรรักษา
- 6.จตุรภัทร บุญภัทรรักษา
- 7.สุวิชา พิทังกร
- 8 มิ.ย. 2558 - มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีการรวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น และบอกเล่าปัญหาผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ หลังการรัฐประหาร และเป็นวันที่ 7 ดาวดิน ประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกรายงานตัว
- 19 มิ.ย. 2558 - เป็นวันวันสุดท้ายที่จะสิ้นสุดการผ่อนผันรายงานตัวตามหมายเรียก มารับหาข้อกล่าวหาของ สภ.เมืองขอนแก่น ในข้อกล่าวหา "ร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป" ในวันนี้มีนักศึกษากลุ่มดาวดิน ถูกควบคุมตัว 3 คน เนื่องจากพยายามนำรูปวาดของเพื่อนๆ ทั้ง 7 คน ไปวางไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา
- 20 มิ.ย. 2558 - 7 นักศึกษากลุ่ม ดาวดิน ปรากฏตัวที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย พร้อมประกาศให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเข้ามาจับกุม โดยที่ทั้ง 7 คนจะไม่ขัดขื่น และชาวบ้านจะไม่มีการต่อต้านใดๆ โดยได้ระบุว่า สาเหตุที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่มาจับกุมในพื้นที่นี้ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และเป็นพื้นที่ที่พวกเขาได้ร่วมเรียนรู้ปัญหาชาวบ้าน และร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน’ เผยแพร่วิดีโอคลิปทั้ง 7 คน เต้นประกอบเพลง ‘รอฉันรอเธออยู่’ พร้อมโพสต์ข้อความด้วยว่า “รอฉันรอเธออยู่ แต่ไม่รู้เธออยู่หนใด เธอจะมาเธอจะมาเมื่อไหร่ เธอจะมาเธอจะมาเมื่อไร ขู่ฉันไว้ทำไมไม่มา”
- 23 มิ.ย. 2558 - เฟซบุ๊กแฟนเพจ ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน ได้เผยแพร่ คลิปการพูดคุยกันระหว่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับนักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน ผ่าน โปรแกรมวิดีโอคอล โดยในช่วงแรกเป็นการพูดคุยระหว่าง นิธิ กับชาวบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และได้ร่วมต่อสู้มากับกลุ่มดาวดินอย่างต่อเนื่องในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยการพูดคุยเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง มีการทักทาย และฝากฝัง 7 ดาวดินให้ชาวบ้านช่วยดูแล ด้านชาวบ้านเองตอบกลับนิธิว่า พร้อมจะยืนคู่กับลูกๆ จนกว่าพวกเขาจะถูกจับกุม (อ่านข่าวที่นี่)
- 24 มิ.ย. 2558 - เป็นวันที่ 8 นักศึกษา นักกิจกรรม (ชาติชาย แกดำ ได้เข้าไปรายงานตัวตามหมายเรียกก่อนหน้านี้แล้ว และได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม บนศาลทหาร) หน้าหอศิลป์ฯ นัดหมายกันไปเข้าแจ้งความ กรณีถูกเจ้าหน้าเข้าจับกุมโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุในเวลา 13.00 น.
แต่ช่วงเช้า นัชชชา กองอุดม กลับถูกเข้าควบคุมตัวที่ รพ.วิภาวิดี หลังเจ้าตัวข้ารักษาทอนซินอักเสบตั้งแต่ 22 มิ.ย. โดยนำตัวมาฝากขังศาลทหาร ศาลให้ประกันตัวแต่มีเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมือง และห้ามยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในขณะที่ถูกควบคุมตัว ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นัชชชา ได้ถูกควบคุมตัวรวมกับบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการฝากขังเพศชาย ซึ่งในระหว่างการตรวจสภาพร่างกาย นั้น คุณนัชชชาได้ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการฝากขัง คุกคามทางเพศโดยทางวาจาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ในตลอดระยะเวลาที่ทำการตรวจร่างกาย แม้ว่าทนายความของนัชชชาจะเสนอขอให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงเป็นผู้ดำเนินการแล้วก็ตามหากเจ้าหน้าที่ของทางเรือนจำยังคงให้เจ้าหน้าที่ชายเป็นผู้ตรวจร่างกาย โดยให้ถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมดให้สวมเพียงกางเกงในเท่านั้น
ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 มิ.ย. 2558 7 ดาวดิน จากขอนแก่น ปรากฎตัวหน้า สน.ปทุมวัน เข้าให้กำลังใจกลุ่มเพื่อน 7 คนจากหน้าหอศิลป์ รวมตัวกันเป็น 14 คน จากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และได้ประกาศจุดยืนหน้า สน.ปทุมวัน ว่าเหตุที่มาในวันนี้ไม่ได้เข้ามารายงานตัวตามหมายเรียกแต่อย่างใด เพราะไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ แต่ต้องการจะมาแจ้งความเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมพวกตนโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุ พร้อมกันนี้ทางกลุ่มได้นำเอารูปภาพที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุจริง โดยมีความตั้งใจเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษตำรวจและทหารระดับผู้บังคับบัญชา 3 นายคือ พ.ต.อ. จารุต ศรุตยาพร, พ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ, พ.อ.สุวิทย์ เกตุศรี ซึ่งได้ควบคุมเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 157, 295,296,309,310
ทั้งนี้ด้านหน้า สน.ปทุมวันได้มีการตั้งแผงเหล็กกั้น พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเฝ้าประจำการอยู่ประมาณ 1กองร้อย ข้อเรียกร้องแรกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คือการขอเข้าไปแจ้งความ โดยขอให้เจ้าหน้าที่เปิดทาง และเปิดพื้นที่ให้มวลชนที่มารอให้กำลังใจ เข้าไปรออยู่ด้านหน้า สน. ได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับในข้อเรียกร้อง และต้องการเพียงแค่เปิดทางให้เฉพาะผู้เข้าแจ้งความเท่านั้นที่สามารถเข้าไปใน สน. ได้ จนถึงเวลาประมาณ 18.00 เจ้าหน้าที่จึงยอมรับตามข้อเสนอกลุ่ม จนกระทั่งเสร็จสิ้นในเวลา 21.40 น. ได้มีการประกาศสลายตัว
ขณะที่ก่อนกลับ 7 คนจากกลุ่มดาวดินได้ประกาศทวงถามหมายจับ จากที่มีข่าวลือว่ามีการออกหมายจับแล้ว และหมายจับมาถึงที่สน.ปทุมวัน แล้ว พร้อมเรียกร้องให้ พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ซึ่งอยู่ภายใน สน. ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความจริงไม่ ทั้งนี้ ไผ่ จตุรภัทร บุญภัทรรักษา ได้กล่าวว่า ตนและเพื่อนไม่ได้กลัวการถูกจับกุม ถ้าจะก็ขอให้จับตอนนี้เลย ขอร้องอย่าจับกุมระหว่างทาง เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ของตนเองและเพื่อนๆ แต่ไม่การออกมาชี้แจงจากพันเอกบุรินทร์ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ได้มีเหตุการณ์ชุลมุนอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่ง 7 คนจากกลุ่มดาวดินได้ประกาศขอเดินเข้าไปด้านใน สน. เพื่อขอดูหมายจับ ว่ามีจริงหรือไม่ ได้มีการพยามผลักแผงเหล็กกั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ดันแผงเหล็กเอาไว้ แต่ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ และมวลชนแต่อย่างใด
ระหว่างทางกลับที่พัก ที่สวนเงินมีมา 7 คนจากกลุ่มดาวดิน ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขึ้นรถติดตามอยู่ตลอดทาง ขณะที่เวลาประมาณ 22.50 น. ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด หนึ่งในผู้ต้องหาคดี "หน้าหอศิลป์" ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบราว 5-6 คน แสดงตัวและขอควบคุมตัวบนสะพานลอยบนถนนพระราม 4 ขณะกำลังเดินทางกลับบ้านกับเพื่อนๆ หลังเดินออกจาก สน.ปทุมวัน
ลูกเกดให้สัมภาษณ์กับผู้สือข่าวว่า เขาแสดงหมายจับและขอควบคุมตัว เธอพยายามโต้เถียงและสุดท้ายด้วยความเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันจึงบอกว่ายินดี ให้จับ จะพาไปไหนก็ไป เดี๋ยวจะแจ้งทนาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ติดต่อผู้บังคับบัญชาก่อนจะกล่าวขอโทษและบอกว่าไม่จับแล้ว
"หนูก็บอกว่าจะจับก็จับเลย จะพาไปไหนก็ไป จับจับไปเลย ไม่ไหวแล้ว เขาก็โทรหาเจ้านายบอกว่าเป้าหมายอยู่กับผมแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ไม่จับแล้วก็ขอโทษ คิดว่าเขาคงแยกทีมกันติดตามเป้าหมายแต่ละคน อย่างของเกดนี่เขาตามมาตั้งแต่ตอนกลางวันแล้วเท่าที่สังเกตดู" ลูกเกดกล่าว
- 25 มิ.ย. 2558 - ตั้งแต่ช่วงเช้า ที่หน้าทางเข้าสวนเงินมีมา มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเฝ้าประจำการอยู่ตลอด แต่ไม่ได้มีการเข้าไปจับกุม 14 คนในขบวนการประชาธิปไตยใหมแต่อย่างใด ทั้งนี้ในช่วงเช้าทางกลุ่มฯ ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าว ถึงจุดยืนอีกครั้ง โดยประกาศว่าพร้อม และยินดีที่จะถูกจับกุม แต่จะไม่เข้ามอบตัวเอง เนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจ คสช. ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ดำเนินการเข้าจับกุม ทางกลุ่มประกาศว่าจะเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยประกาศนัดพบกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 17.00 น.
ต่อมาในเวลา 14.20 อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมนายทหารนอกเครื่องแบบ เดินเข้ามาขอให้นักศึกษาคุยกันก่อน โดยขอว่า อย่าเพิ่งออกไปเคลื่อนไหว แต่ไม่เป็นผล พร้อมกันนั้นขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้รวมตัวร้องเพลง และเดินออกไปขึ้น ปอ.6 เพื่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจนอกเครื่องแบบขับรถจักยานยนต์ตามไปด้วย
ปกรณ์ อารีกุล 1 ใน 14 คน ในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกออกหมายจับ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะเป็นการทัวร์ทางประวัติศาสตร์ โดยจะเริ่มต้นกันที่ ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทลัยธรรศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นจะไปต่อที่ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
กิจกรรมการทัวร์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถูกเฝ้าจับจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ นอกเครื่องแบบตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่มีการบุกเข้าจับกุม หรือสั่งห้ามทำกิจกรรมแต่อย่างใด มีเพียงการเดินเข้าบอกกับทางกลุ่มฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบว่า สิ่งที่ขบวนการประชาธิปไตยทำอยู่นั้น เป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย
เมื่อเดินทางมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ออกมาเล่าถึงเหตุผลที่ออกมาต่อต้านการทำ รัฐประหาร โดยให้เหตุผลว่า ในระบอบเผด็จการมีการใช้อำนาจเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุน และประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่มีช่องทางที่จะออกมาเรียกร้องอะไรได้เลย เช่นกรณีการขุดเจาะปิโตรเลียมบ้านนามูล-ดูลสาด กรณีเหมื่องแร่เมืองเลย ฉะนั้นการต่อสู้ในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน และผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ จึงการเป็นเรื่องเดียวกันกับการคัดค้านรัฐประหาร
เมื่อรัฐบาลทหาร ออกมาปกครองบ้านเมือง มีการออกกฎหมายโดยไม่มีการรับฟังเสียง หรือความคิดเห็นของประชาชน อย่างเช่นเรื่องการผลักดันกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบ
อีกทั้งภายใต้ระบอบเผด็จการ กระบวนการยุติธรรมไม่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริง รัฐบาลอ้างกฎหมายพิเศษ ในการจัดการกับผู้คนที่เห็นต่าง ผู้บริสุทธิ์ หลายคนต้องติดคุก เมื่อไม่มีประชาธิปไตย ความยุติธรรมจึงไม่เกิดขึ้น
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ได้ประกาศที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า “มาตรา 44 ไม่ใช่กฎหมาย ประชาชนทุกคนจึงไม่ต้องพึงเคารพ ประกาศหรือความสั่งของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าฉบับใด ประชาชนไม่พึงเคารพ เราจะเคารพแต่กฎหมายที่ออกโดยผู้แทนของประชาชนเท่านั้น รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นรัฐบาลได้ เป็นแต่เพียงกบฎยึดอำนาจเท่านั้น เมื่อกบฎทำผิดมาตรา 113 ตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีโทษประหารชีวิต จะมาออกคำสั่งหรือประกาศใดๆ ให้ประชาชนปฏิบัติตาม ประชาชนพึ่งมีหน้าที่เพื่อต่อต้านคำสั่งหรือประการนั้น”
ทั้งนี้ในเวลา 19.06 น. กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ยุติกิจกรรม และเดินคล้องแขนกันขึ้นรถกลับที่พัก
- 26 มิ.ย. 2558 - เมื่อเวลา 14.20 น. 14 คน ในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ประกาศยืนยันหลักการ 5 ข้อ และยืนยันไม่เจรจา ไม่ต่อรองใดๆ กับรัฐบาลทหาร แต่ยอมรับการถูกจับกุมตามข้อกล่าวหา พร้อมยังได้เรียกร้องนายกรัฐมนตรีและ ผบ.ทบ. ให้เปิดเผยตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ให้ชัดเจน ไม่ควรพูดกล่าวหาแบบคลุมเครือ
ขณะที่เวลาประมาณ 16.32 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ พ.ต.ท.มานิตย์ ทองขาว พนง.ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.สำราญราษฎร์ ได้ขอหมายจับจากศาลทหารฯ ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2558 โดยจับกุมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ประกอบไปด้วย
- 1.นายรังสิมันต์ โรม(โรม)
- 2. นายวสันต์ เสดสิทธิ(โต้ง)
- 3.นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์(เดฟ)
- 4.นายพายุ บุญโสภณ(พายุ)
- 5.นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์(น้อย)
- 6.นายรัฐพล ศุภโสภณ(บาส)
- 7.นายศุภชัย ภูคลองพลอย(อาตี้)
- 8.นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์(หนุย)
- 9.นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์(ไนท์)
- 10.นายสุวิชา พิทังกร(เบส)
- 11.นายปกรณ์ อารีกุล(แมน)
- 12.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา(ไผ่)
- 13.นายพรชัย ยวนยี(แซม)
- 14. น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว(ลูกเกด)
ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราช อาณาจักร และรวมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่ใดๆที่จำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
ทั้งนี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีการอนุมัติหมายจับทั้ง 14 คนแล้ว ในข้อหาเดียวคือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่3/2558
- 17.20 น. ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้ามาในสวนเงินมีมา ซึ่งเป็นที่พักของกลุ่มนักศึกษาที่ถูกออกหมายจับ โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับผู้ต้องหาทีละราย ก่อนจะให้มานั่งรวมกัน โดยไม่มีการใส่กุญแจมือ ขณะที่เพื่อนนักกิจกรรม-นักศึกษาคนอื่นๆ ที่ไม่โดนหมายจับ ร่วมร้องเพลงให้กำลังใจอยู่ในบริเวณเดียวกัน
- 17.35 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวทั้ง 14 คนขึ้นไปบนรถควบคุมผู้ต้องหาคันเดียวกัน โดยไม่มีผู้ติดตามขึ้นไปด้วย และยังไม่ทราบจุดหมายปลายทาง ขณะที่เพื่อนๆ ร้องเพลง "บทเพลงของสามัญชน" ส่ง
- 00.20 น. ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 รายเป็นเวลา 12 วัน โดยทนายคัดค้านคำร้องขอฝากขังแต่ไม่เป็นผล และกำลังจะนำตัวผู้ต้องหาไปยังเรือนจำ ผู้ชาย 13 คนไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงเพียงคนเดียวจะถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง
- 00.30 น. ประชาชนและนักศึกษาที่รออยู่ด้านหน้าศาลหลักเมือง หลังทราบข่าวว่า ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจะถูกส่งตัวไปเรือนจำ ก็ได้ร่วมกันจุดเทียน ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาและบทเพลงของสามัญชน ระหว่างที่รถห้องขังกำลังจะนำผู้ต้องหาทั้งหมดออกจากศาลทหารสู่เรือนจำ
- 27 มิ.ย. 2558 - กิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ยังเดินหน้าต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น