วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ศาลทหาร-ศาลอาญา เห็นไม่ตรงกัน คดี 112 ‘รุ่งศิลา’ขึ้นศาลไหน รอชี้ขาด


<--break- />
เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2558   ศาลอาญานัดฟังความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีของนายสิรภพ (สงวนนามสกุล) หรือ รุ่ง ศิลา จำเลยในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งถูกจับกุมหลังรัฐประหารไม่กี่วันและถูกคุมขังในเรือนจำมาประมาณ 1 ปี 4 เดือนจนปัจจุบัน จากกรณีที่เขาเขียนบทกวีและเผยแพร่บทความในเว็บไซต์
อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลทหารวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาแทนที่จะเป็นศาลทหารหรือไม่ เนื่องจากความผิดตามฟ้องนั้นเกิดก่อนการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 และก่อนคำสั่ง คสช.ที่กำหนดให้คดีความมั่นคงทั้งหมดขึ้นศาลทหาร ศาลทหารให้ความเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเขตอำนาจศาลตาม ม.10 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ระบุให้ศาลที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในอำนาจร่วมวินิจฉัยเขตอำนาจ ศาลอาญาจึงต้องวินิจฉัยในเรื่องนี้ด้วย และวันนี้ (22 ก.ย.) ศาลอาญามีความเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา จึงให้ศาลทหารงดสืบพยานจนกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด
อานนท์กล่าวว่า นี่เป็นคดีแรกที่ศาลทั้งสองแห่งมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยตามพ.ร.บ.อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเมื่อใด
“ทางทีมทนายกำลังคุยกับญาติจำเลยว่ามีเงินประกันตัวหรือไม่ เพราะระหว่างผลคำวินิจฉัยซึ่งไม่รู้กำหนด น่าจะเป็นเหตุให้ประกันตัวได้” ทนายกล่าวและว่า ก่อนหน้าที่ญาติจำเลยเคยยื่นประกันตัวแล้ว 2 ครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
อานนท์กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีคดี 112 หลายคดีที่เกิดขึ้นในระบบอินเทอร์เน็ตก่อนหน้าการรัฐประหาร แต่ก็ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร โดยมีการให้เหตุผลว่า แม้จะเป็นการกระทำก่อนการรัฐประหารและก่อนมีคำสั่งให้คดีความมั่นคงขึ้นศาลทหาร แต่การแสดงผลในอินเทอร์เน็ตนั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องจนวันที่มีคำสั่งดังกล่าว เช่น คดีของทอม ดันดี ผู้ต้องขังคดี 112 ถูกกล่าวหาว่าโพสต์คลิปปราศรัยของตนเองในยูทูบเมื่อปี 2556 หรือแม้กระทั่งคดีคลิปเสียงบรรพตซึ่งมีจำเลยจำนวนมากถูกศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุกจากการแชร์ลิงก์ก่อนหน้าการรัฐประหาร
“ตอนนี้ความเห็นยังไม่ยุติ ต้องรอคณะกรรมการชี้ขาด ซึ่งหากกรรมการชี้ขาดว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา ศาลทหารก็ต้องส่งสำนวนทั้งหมดในคดีนี้ให้ศาลอาญาพิจารณาตามปกติ ซึ่งจำเลยก็จะได้สิทธิสู้คดีได้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาด้วย เพราะศาลทหารนั้นคดีเด็ดขาดในชั้นเดียว” อานนท์กล่าว
“คำถามสำคัญก็คือ คดี 112 ลักษณะเดียวกันที่พิจารณาในศาลทหารไปแล้วจะสามารถยื่นขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ไหม” อานนท์กล่าว
ทั้งนี้ สิรภพ หรือ ผู้ใช้นามปากกาว่า รุ่งศิลา อายุ 52 ปี ประกอบอาชีพทำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 14 (3) และ (5)พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำเลยปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี คำฟ้องระบุถึงการโพสต์เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในชื่อ รุ่งศิลา 3 ชิ้น ชิ้นแรกเป็นบทกลอนที่โพสต์ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 7พ.ย. 2552 ชิ้นที่สองเป็นข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่15 ธ.ค.2556 ชิ้นที่สามเป็นข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บบล็อกของรุ่งศิลาโพสต์เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557
เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2557สิรภพยื่นคำร้องขอให้ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขัดต่อมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งศาลทหารได้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลทหารจะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีความเป็นอิสระ ส่วนการพิจารณาและตัดสินคดี ผู้พิพากษามีอำนาจตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระ
นอกจากในคดีนี้สิรภพยังถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ฉบับที่ 44/2557เรื่องเรียกให้บุคคลไปรายงานตัว ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2557 แต่สิรภพไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ทำให้ต่อมาวันที่ 8 มิ.ย. เขาถูกออกหมายจับ และถูกจับกุมเมื่อ 25 มิ.ย. ปีเดียวกัน ขณะกำลังเดินทางด้วยรถตู้ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังจังหวัดอุดรธานี ขณะกำลังจะเข้าเมืองกาฬสินธุ์มีรถฟอร์จูนเนอร์ปาดหน้าและมีทหารไม่แต่งเครื่องแบบอย่างน้อย 5 พร้อมอาวุธครบมือลงมาจากรถ และมีทหารจากรถอีกคันจอดประกบอยู่ด้านหลังพร้อมอาวุธครบมือเข้าล้อมรถ จากนั้นเขาจึงถูกนำไปคุมตัวที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จังหวัดขอนแก่น 1วัน ก่อนจะส่งตัวมาควบคุมต่อที่กรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน
====================
พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542
มาตรา 10 ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดี ดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับ ศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่นในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(3) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย
คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามวรรคหนึ่ง (3) ให้เป็นที่สุด และมิให้ศาลที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปของศาลตามวรรคหนึ่งยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีก
ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น