28 ก.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (28 ก.ย. 58) ศาลทหารกรุงเทพนัดพร้อมฟังความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล กรณีจาตุรนต์ ฉายแสง ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ซึ่งอัยการทหารสั่งฟ้องใน 3 ฐานความผิด คือ ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเขตอำนาจศาล จึงต้องส่งความเห็นส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัย
โดยเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. องค์คณะตุลาการ ประกอบด้วย พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู น.ท.สุรชัย สลามเต๊ะ และ น.ท.หญิงวิภาวี คุปต์กาญจนากุล ออกนั่งบัลลังก์อ่านความเห็นของศาลกรณีเขตอำนาจศาล ในคดีที่จาตุรนต์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 25/2557 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
ศาลทหารกรุงเทพได้ทำความเห็นว่า คำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 ในเรื่องการฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 1/2557 ฉบับที่ 2/2557 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม ส่วนคำฟ้องข้อ 1.3 กรณีความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ หากศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นตรงกัน การชี้ขาดเขตอำนาจศาลถือเป็นที่สิ้นสุด จะทำคำร้องอีกไม่ได้
ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คำฟ้องข้อ 1.1, 1.2, และ 1.3 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม เนื่องจากบรรดาคำสั่งใดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งมาเป็นโทษแก่จำเลยนั้น กฎหมายจะออกมาให้มีผลบังคับย้อนหลัง ต่อกระบวนการพิจารณาให้เป็นโทษต่อจำเลยทางอาญาไม่ได้ เมื่อทั้งสองศาลมีความเห็นไม่ตรงกันจึงต้องส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อชี้ขาดเขตอำนาจศาลตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้เหตุที่ศาลทหารเห็นว่าความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารเนื่องจากตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/57 และฉบับที่ 38/57 กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและความผิดที่เกี่ยวโยงขึ้นต่อศาลทหาร อย่างไรก็ตามประกาศดังกล่าวประกาศ ได้ลงวันที่ประกาศ 25 พฤษภาคม 2557 แต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ในขณะเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นจากกรณีนายจาตุรนต์ได้รับเป็นวิทยากรพูดเรื่องผลกระทบของการรัฐประหารที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาคารมณียา ถ.สุขุมวิท ในวันที่ 27 พ.ค. 2557
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 (3) ระบุว่า ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 30 วัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ศาลทหารกรุงเทพจะนัดฟังคำวินิจฉัยอีกครั้ง
จาตุรนต์ เผยพร้อมคำวินิจฉัยน้อมรับ
สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จาตุรนต์ ได้กล่าวขอบคุณศาลทหารที่รับคำร้องไว้พิจารณา และทำความเห็นส่งไปยังศาลอาญา จนกระทั่งศาลอาญามีความเห็นว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของศาลอาญา ซึ่งไม่ว่าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจของหน้าที่ระหว่างศาล จะวินิจฉัยอย่างไรก็น้อมรับ และว่า ขณะนี้ คดีที่มีการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ยังพักการพิจารณาไว้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องขอบเขตอำนาจของศาล
จาตุรนต์ ยังกล่าวถึง การเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่า ขณะนี้ทำได้เพียงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน ยืนยันว่า เป็นความเห็นที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวอย่างเคร่งครัด ด้วยการไม่กระทำผิดกฎหมาย
“ที่ผ่านมาไม่เคยปลุกปั่นหรือยุยง และได้ไปแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการปรองดอง ซึ่งก็ได้ประโยชน์ แต่สุดท้ายข้อมูลที่ให้นั้น กลับเงียบหาย” จาตุรนต์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น