22 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) ว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ขององค์การสหประชาชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ของยูเอ็นที่https://uprdoc.ohchr.org ทั้งนี้เวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในกระบวนการ Universal Periodical Review หรือ UPR
โดยกระบวนการ Universal Periodical Review ( UPR หรือยูพีอาร์) นั้น เป็นการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human rights Council) ที่ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยประเทศสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชน (HRC) รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาติ (OHCHR) จะร่วมกันจัดเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของทุกประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ โดยจุดประสงค์ของกระบวนการ UPR คือต้องการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก รวมทั้งพยายามประสานความร่วมมือของหน่วยงานทั้งหมดด้านสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกัน โดยจะมีการจัดทำรายงาน มีรายงานรัฐ 20 หน้า รายงานของหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ 10 หน้า และรายงานที่รวบรวมจากองค์กรต่างๆ เอกชน แล้วทาง OHCHR จะรวบรวมทั้งหมดเป็น 10 หน้ากระดาษ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาทาง HRC สำนักเลขาของ UPR ใช้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งหมดทุกฉบับทั้งที่ประเทศนั้นมีข้อผูกพันทางกฎหมายและในส่วนที่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย
สำหรับประเทศไทยได้เข้าสู่การทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมาแล้วหนึ่งครั้งในปีพ.ศ. 2553 (2011) และมีประเทศต่างๆ ทั่วโลก 193 ประเทศก็เข้าสู่กระบวนการ UPR แล้ว ทาง HRC จะจัดประชุม 3 ครั้งต่อปี ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จะต้องเข้าสู่กระบวนการ UPR โดยเฉลี่ยทุก 4 ปี ในครั้งหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการ UPR อีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 25 เดือนเมษายน- พฤษภาคม 2559 (2016) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/UPRMain.aspx )
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่างๆ ของภาคประชาสังคมได้จัดส่งไปนั้น เน้นประเด็นเรื่อง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในที่ดินและป่าไม้ สิทธิเด็ก การเข้าถึงความยุติธรรม สิทธิในการชุมนุมและการแสดงออกทางความคิดเห็น การบังคับให้บุคคลสูญหาย การป้องกันการทรมานและการสืบสวนสอบสวนรวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหาย เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร เป็นต้น (รายงานคู่ขนานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ฉบับภาษาอังกฤษ สามารถ Download ได้ที่https://voicefromthais.files.wordpress.com/2015/09/upr-torture_and-land-_-crcf-and-partners_21sep-2015.pdf)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น