28 ต.ค. 2558 จากกรณีการจับกุมนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยองกับพวก จนถึงการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ศูนย์ข้อมูลชุมชน ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี โดยย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำอื่นเนื่องจากการคุมขังพลเรือนในพื้นที่ของทหารขาดความโปร่งใส ขาดหลักประกันสิทธิผู้ถูกคุมขังและอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนประการอื่นได้ อันเข้าข่ายเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดพันธกรณีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจไร้หลักประกันสิทธิ ข้อ 10 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังด้วยความมีมนุษยธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยกระบวนการและผลการชันสูตรพลิกศพของพ.ต.ต.ปรากรม พร้อมทั้งดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักนิติธรรมและเพื่อให้สังคมได้ร่วมตรวจสอบถึงสาเหตุการตายโดยไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัว
รายละเอียด มีดังนี้
ความเห็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่อกระบวนการยุติธรรม
กรณีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา
กรณีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา
ตามที่วันที่ 16 ต.ค. 58 มีข่าวการควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ไปจากบ้านพัก โดยผู้บังคับการปราบปรามให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่ากองปราบไม่ได้จับกุมนายสุริยัน ต่อมาวันที่ 21 ต.ค. 58 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภาและนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ ทั้งหมดถูกนำไปควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 58 ที่ผ่านมาว่าระหว่างการควบคุมตัวพ.ต.ต.ปรากรม สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เสียชีวิตจากการผูกคอกับลูกกรงโดยแถลงการณ์ข้อ 3.ระบุว่า “การเสียชีวิตของผู้ต้องขังในครั้งนี้เป็นการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน จึงต้องดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และส่งศพให้สถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป”
อย่างไรก็ตามวันที่ 25 ต.ค.58 ญาติผู้ตายได้ไปติดต่อขอรับศพที่สถาบันนิติเวช แต่พบว่าไม่มีการส่งศพมายังสถาบันฯต่อมาวันที่ 26 ต.ค.58 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมชันสูตรพลิกศพพ.ต.ต.ปรากรมตามกฎหมาย และญาติได้เดินทางมารับศพยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้วจึงไม่จำเป็นต้องส่งศพไปตรวจที่สถาบันนิติเวชอีก
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อแนบท้ายมีความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การจับกุมนายสุริยัน กับพวกจนถึงการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม ดังต่อไปนี้
- 1. การควบคุมตัวนายสุริยัน ระหว่างวันที่ 16 – 21 ต.ค.58ในสถานที่ลับ โดยเจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธการควบคุมตัว ทำให้นายสุริยันไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายถือเป็นการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ ตามข้อ 2 อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) และประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องไม่ละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว หลังลงนามในอนุสัญญา แม้ยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม
- 2. การควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสามรายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีภายในค่ายทหาร โดยเป็นการขังเดี่ยวภายในห้องที่ปิดทึบผนังทั้งสี่ด้านไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้นอกจากการเปิดประตูนั้น เข้าข่ายการประติบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรรมหรือย่ำยี่ศักดิ์ศรี ตามข้อ 16 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งการควบคุมตัวบุคคลภายในสถานที่ซึ่งบุคคลภายนอกไม่อาจเข้าถึงภายในค่ายทหารนั้นยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆอาทิการทรมาน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถตรวจสอบผู้กระทำความผิดได้ยาก
- 3. การเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม นั้น ถือเป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานต้องปฏิบัติตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากล่าวคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องทำการชันสูตรพลิกศพ และพนักงานอัยการต้องทำคำร้องให้ศาลไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ตาย ในทางปฏิบัติทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะมีการส่งร่างผู้ตายไปยังสถาบันนิติเวชดังที่ระบุขั้นตอนไว้ในแถลงการณ์ แต่กลับไม่มีการดำเนินการดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่ามีการชันสูตรภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีญาติร่วมในกระบวนการชันสูตร
- ทั้งนี้ ตามมาตรา 150 กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ญาติทราบเท่าที่จะทำได้ก่อนมีการชันสูตรดังนั้น กระบวนการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรมจึงยังมีข้อสงสัยและทำให้สังคมตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้ายจากอำนาจนอกกฎหมายแม้กระทั่งอยู่ระหว่างพิสูจน์การกระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรมก็ตาม
- 4. ตามข้อ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเรื่องหลักสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายว่ามีความผิด ดังนั้นผู้ต้องหาทั้งสามยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องให้
- 1. ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี โดยย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำอื่นเนื่องจากการคุมขังพลเรือนในพื้นที่ของทหารขาดความโปร่งใส ขาดหลักประกันสิทธิผู้ถูกคุมขังและอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนประการอื่นได้ อันเข้าข่ายเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดพันธกรณีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจไร้หลักประกันสิทธิ ข้อ 10 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังด้วยความมีมนุษยธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- 2. เปิดเผยกระบวนการและผลการชันสูตรพลิกศพของพ.ต.ต.ปรากรม พร้อมทั้งดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักนิติธรรมและเพื่อให้สังคมได้ร่วมตรวจสอบถึงสาเหตุการตายโดยไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัว
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น