เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการทาบทามบุคคลเพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา กรธ. ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเรื่องการอำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยยอมรับว่า ได้ทาบทามนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและในฐานะอดีตเลขานุการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว
“แต่จากพูดคุยกับนายบวรศักดิ์ จะไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว เพราะเคยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบมาแล้ว แต่การพูดคุยได้ระบุไปว่าเชิญนายบวรศักดิ์ในฐานะที่เป็นอดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แต่นายบวรศักดิ์ยังรีรอที่จะให้คำตอบ เพราะกังวลว่าสื่อมวลชนจะวิพากษ์วิจารณ์ แต่หากสื่อมวลชนสัญญาว่าจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ ผมจะไปพูดคุยกับนายบวรศักดิ์อีกครั้ง เพราะมองว่าหากนายบวรศักดิ์ตอบรับ จะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญรอบปัจจุบันจะเกิดประโยชน์ ส่วนจำนวนของที่ปรึกษานั้น ยังไม่ได้กำหนดว่าจะตั้งครบ 9 คนหรือไม่ เพราะต้องรอหารือต่อที่ประชุม กรธ.อีกครั้ง เบื้องต้นอาจมีจำนวนไม่ครบตามที่ระบุก็ได้” นายมีชัย กล่าว
ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนแสดงความเห็นร่าง รธน.
“อยากขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนแสดความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ด้วย โดยไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของ กรธ. ที่มีเพียง 21 คนเท่านั้น ขณะที่แนวทางการป้องกันการทุจริตในวงการภาครัฐนั้น ยอมรับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนมานั้นยังไม่ดีพอ แต่จะทำกลไกให้มีประสิทธิภาพอย่างไรนั้น ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมแสดงความเห็นเพื่อกำหนดเป็นมาตรการที่บังคับใช้ได้จริง การทำการปกครองให้เหมาะกับสภาพสังคมไทยนั้น ผมยอมรับว่ายาก แต่ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน เพราะรอบนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วม และทำรัฐธรรมนูญให้เป็นของทุกคน แต่หากถามผม เรื่องนี้ก็ยังคิดไม่ออก เมื่อคืนก็คิดก็ยังคิดไม่ออก” นายมีชัย กล่าว
ตั้งอนุกรรมการศึกษาด้านนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหาร
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ และนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงผลการประชุมกรธ.ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร คณะละ 5-6 คน ทำหน้าที่ศึกษาข้อดี-ข้อเสียของรูปแบบระบบการเมืองในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสังคมไทย โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและใช้เวลา 1 เดือนรวบรวมข้อมูล ก่อนเสนอให้ที่ประชุมกรธ.พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด อาจเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีมติที่จะตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยการผลิตสื่อ โดยจะมีบุคคลภายนอกมาเป็นองค์ประกอบหลัก ส่วนใหญ่จะให้เป็นนักวิชาการที่เข้ามาช่วยเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่ประชาชนเข้าใจง่าย เน้นเผยแพร่ผ่านสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์เป็นหลัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น