ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร มั่นใจป้องกันเว็บกองทัพบกได้ มีเครื่องมือด้านเทคนิค และเจ้าหน้าที่ดูแลทุกวัน ด้าน ปอท. ชี้ใครก่อกวนเว็บไชต์หน่วยงานราชการ ผิด พ.ร.บ. คอมฯ
2 ต.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพ กล่าวถึงมาตรการการป้องกันเว็บไซต์ของกองทัพบก ภายหลังกลุ่มผู้คัดค้านโครงการซิงเกิล เกตเวย์รุมถล่มเว็บกระทรวงไอซีทีและหน่วยงานของรัฐบาลหลายเว็บไซต์ว่า เบื้องต้นได้รายงานให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ได้รับทราบแล้ว แต่ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเชื่อมั่นว่ากองทัพบกสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ เพราะมีเครื่องมือด้านเทคนิคและจัดเจ้าหน้าที่ดูแล 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ต.ฤทธีกล่าวว่า เว็บไซต์ส่วนราชการหลายหน่วยงานที่ถูกโจมตีนั้น ส่วนใหญ่จะโดน DDOS แบบ Volumetric Attack (การโจมตีแบบสร้างช่องทางพร้อมกันในจำนวนมหาศาล) และ fragmentation (การกระจายตัวออกไปในวงกว้าง) ผลจากสืบสวนสอบสวนทั้งนี้ Volumetric Attack เป็นการโจมตีประเภทหนึ่งของ DDOS การโจมตีประเภทนี้จะสร้างการเดินทางจำนวนมหาศาล ส่วนแนวทางการป้องกันการโจมตีแบบนี้คือ Anycast (ระบบการจัดการคำร้องขอข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์) ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับที่ใช้การทำ CDN (content delivery network ระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยศูนย์ข้อมูลจำนวนมากที่เชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ต) ทำให้สามารถป้องกันการโจมตีได้
ปอท. ชี้ก่อกวนเว็บหน่วยงานราชการ ผิด พ.ร.บ. คอมฯ คุก 5 ปี
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ รักษาราชการแทนที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านสืบสวนทางเทคโนโลยีและนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กำลังตรวจสอบความเสียหาย เพื่อดำเนินการเอาผิดผู้ที่เข้ามาก่อกวนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 10 รบกวน ขัดขวาง ระบบคอมพิวเตอร์ โทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 13 การจำหน่าย / เผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อใช้กระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการทำงานของภาครัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น