วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 10 สภาผู้ส่งออกฯ ระบุส่งออกไทยติดลบ 5%


พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ ต.ค.ลดลง 0.77% ติดลบต่อเนื่อง 10 เดือน คาดไตรมาส 4 ลบต่อ สภาผู้ส่งออกฯ ระบุส่งออกปีนี้ต่ำถึงก้นเหวติดลบ 5%
2 พ.ย. 2558 นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ต.ค.58 ว่า เท่ากับ 106.49 ลดลง 0.77% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.57 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ในรอบปีนี้ และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.58 สูงขึ้น 0.20% ขณะที่เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 58 ลดลง 0.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ 0.77% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 2.12% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงลด 21.90% ค่าบริการสื่อสาร ลด 0.03% ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่ม 0.10% เสื้อผ้า รองเท้า เพิ่ม 0.41% ค่าหนังสือ การศึกษาเพิ่ม 1.25% ค่าเหล้า เบียร์ บุหรี่ 2.14% ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.75% สินค้าสำคัญราคาเพิ่มขึ้น เช่น อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1.79% ผักสดเพิ่ม 13.46% เป็นต้น
สภาผู้ส่งออกฯ ระบุส่งออกไทยปีนี้ติดลบร้อยละ 5
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) แถลงสถานการณ์ส่งออกเดือนกันยานยน 2558 โดยประเมินภาพรวมการส่งออกตลอดปีนี้ว่าน่าจะตกต่ำถึงก้นเหว โดยส่งออกจะหดตัวร้อยละ 5 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน มูลค่ารวม 216,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนปี 2559 สภาผู้ส่งออกฯ คาดการณ์ว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัว โดยการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 2 มูลค่าส่งออกประมาณ 220,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากแรงหนุนนโยบายภาครัฐ เช่น การปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและการปรับยุทธศาสตร์การค้าที่น่าจะเริ่มเห็นผลและผลจากเศรษฐกิจโลกโตร้อยละ 3.6 ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เริ่มบริบทใหม่ทางการค้าด้วยหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันปัจจุบันอาจไม่เพียงพอหรือแข่งขันได้ในอนาคต
สำหรับปี 2559 มีปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก ดังนี้ ภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ผันผวนระหว่างการปรับตัวเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ หรือนิวนอร์มอล ทำให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัว เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัวช้า อาจต้องมีมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือมาตรการคิวอี รอบใหม่ที่แรงกว่าเดิม ส่วนจีนต้องปรับยุทธศาสตร์แบบรอบด้านตลอดเวลา เพื่อรับมือกับความกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในประเทศและภายนอก ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ถี่และรุนแรงขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น