วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงาน สื่อไทยหลังรัฐประหาร-สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 112


16 พ.ย. 2558 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงานสถานการณ์สื่อไทยหลังรัฐประหาร 2557 ในชื่อ "สื่อที่ถูกไล่ล่าโดยเผด็จการทหาร ตั้งแต่รัฐประหาร 2557" (Media hounded by junta since 2014 coup) เขียนโดย เบนจามิน อิสเมล หัวหน้าแผนกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน รายงานความยาว 44 หน้าดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ภาวะที่อยู่ใต้การนำ "ความสงบเรียบร้อย" กลับมา ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานั้นได้ปิดกั้นเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพสื่อไทย ซึ่งเคยเป็น "ต้นแบบของภูมิภาค" เมื่อสิบปีที่ผ่านมาอย่างไร
รายงานดังกล่าวเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า "Anton" ซึ่งต้องหนีออกจากประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว รายงานระบุว่า Anton เป็นนักวิจัยและผู้ช่วยนักข่าว (fixer) ให้กับสื่อต่างประเทศซึ่งทำงานในไทย เขาทำงานวิจัยในประเด็นอ่อนไหว เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้กับองค์กรสื่อต่างประเทศชั้นนำ เช่น นิวยอร์กไทมส์ แต่สาเหตุที่เขาต้องหนีเกิดจากการโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และผลกระทบต่อสังคมไทยและประณามการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างและนักกิจกรรมกลุ่มกษัตริย์นิยมสุดโต่ง (ultra-royalist) โดยใช้นามแฝงในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์และทวิตเตอร์
รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปพบพ่อแม่ของเขาและบังคับให้ครอบครัวติดต่อให้เขามาพบตำรวจ เขาตั้งข้อสังเกตว่าตำรวจระบุตัวเขาจากกิจกรรมออนไลน์ทั้งที่เขาใช้นามแฝง
หลังการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ที่เพิ่งโต้เถียงกับทหารและปรึกษาทนายสิทธิมนุษยชน เขาตัดสินใจออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว แต่ทางการยังจับตาดูเขา โดยบอกกับครอบครัวและเพื่อนของเขาว่าเขาเป็นอาชญากร โชว์ว่าเขาโพสต์อะไรบ้าง และถามครอบครัวของเขาด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของเขาด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงต้องตัดการสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนเพื่อไม่ทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตราย  
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวระบุถึงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทหารใช้กับสื่อ 4 ประการ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์เซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง มีการออกคำสั่งและประกาศกว่าสิบฉบับ ห้ามสื่อและสื่อออนไลน์เสนอข่าวที่อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติและหมิ่นประมาทบุคคล หรือวิจารณ์การทำงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ทหารบุกไปที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในค่ำวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลังไทยพีบีเอสไม่ทำตามคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ
2. ยุทธศาสตร์สร้างความกลัว มีการเรียกบรรณาธิการข่าวของสื่อ 18 แห่งทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเข้า "พูดคุย" เพื่อห้ามเสนอข่าววิจารณ์ คสช. นอกจากนี้ยังมีการเรียกสื่อที่แสดงความเห็นทางออนไลน์วิจารณ์ คสช.อย่าง ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.ฟ้าเดียวกัน และ ประวิตร โรจนพฤกษ์ อดีตผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น เข้ารายงานตัวและคุมตัวไว้ในค่าย
3. ยุทธศาสตร์จอดำ ก่อนการรัฐประหาร มีการบุกไปยังสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยสิบช่องเพื่อหยุดการออกอากาศ มีเจ้าหน้าที่ทหารเฝ้าหน้าสถานีข่าวบางแห่ง กรณีไทยพีบีเอส ไม่หยุดออกอากาศ โดยเผยแพร่รายการผ่านยูทูบ เจ้าหน้าที่ทหารได้บุกไปที่สถานีและคุมตัว วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการข่าวไป นอกจากนี้ มีข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ไปที่สำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันแห่งหนึ่งเพื่อสั่งห้ามตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิไตย ซึ่งเป็นกลุ่มต้านรัฐประหาร รวมถึงมีการสั่งปิดวิทยุชุมชนหลายพันแห่ง
4.ยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อ หลังระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องและส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปคุมสถานีแล้ว คสช.ได้สั่งให้ทีวีทุกช่องเผยแพร่ประกาศ คสช. มีการออกอากาศรายการคืนความสุขให้คนในชาติ รายสัปดาห์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุถึงสถานการณ์การเซ็นเซอร์และการสอดแนมในโลกออนไลน์ด้วย โดยมีเว็บหลายแห่งถูกบล็อคและมีการสอดแนมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงโครงการ "ซิงเกิลเกตเวย์" ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหาร

ขณะที่สื่อต่างประเทศก็ถูกวิจารณ์จาก พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นภัยคุกคามต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติ
นอกจากนี้ สื่อยังถูกทำให้ขยับไม่ได้ด้วยการพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง ข้อหาดังกล่าวถูกใช้เพื่อคุมขังนักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน บล็อกเกอร์และนักข่าว
ในรายงานดังกล่าวระบุถึงกรณีที่เว็บไซต์ข่าวภูเก็ตหวานถูกกองทัพเรือฟ้องคดีอาญา หลังการรายงานเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และมีการสู้คดีนานสองปีจนชนะคดีในที่สุด
ตอนสุดท้ายของรายงานยังตั้งคำถามต่อบทบาทของสื่อไทย ในภาวะที่การแบ่งขั้วของผู้สนับสนุนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ทำให้สื่อทำหน้าที่ฐานันดรที่สี่ ในการต้านรัฐประหารได้ยากขึ้น และยังป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวในการต่อต้านการเซ็นเซอร์และแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจ
ทั้งนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ไทยอยู่ที่ 134 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น