วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ เปิดตัวเลขพลเรือนขึ้นศาลทหารหลังรัฐประหาร 1,629 คน


13 พ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญ ระบุว่า ตั้งแต่ 22 พ.ค.57- 30 ก.ย.58 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,408 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,629 คน โดยจำนวนพลเรือนขึ้นศาลทหารกรุงเทพมากที่สุดจำนวน 208 คน และศาลทหารที่มีพลเรือนกว่า 100 คน ขึ้นสู่ศาลทหารคือ ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (จังหวัดขอนแก่น)จำนวน 158 คน ศาลมณฑลทหารบกที่ 32 (จังหวัดลำปาง) จำนวน 158 คน และศาลมณฑลทหารบกที่ 42 (จังหวัดสงขลา) จำนวน 115 คน
ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 38/2557เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารและ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 50/2557 เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ซึ่งส่งผลให้ความผิดบางประเภทนั้นอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ได้แก่
1. ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118ประมวลกฎหมายอาญา[1]
3.ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
4. ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือ วัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490 ที่กระทำตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 16.30 นาฬิกา เป็นต้นไป[2]
5. คดีซึ่งประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันกับคดีความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา ข้อ 1-4
นอกจากนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่22 พฤษภาคม 2557 – 31 มีนาคม 2558 ซึ่งส่งผลให้คดีซึ่งเกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวนั้นไม่สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้แม้จะมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกแล้วก็ตาม[3]
โดยหากแบ่งตามประเภทความผิดพบว่าในต่างจังหวัด (เฉพาะศาลมณฑลทหารบกและศาลจังหวัดทหารบก) ตั้งแต่ 22 พ.ค.57-30 มิถุนายน 58 จำนวนคดีทั้งหมด 959 คดี ผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,111 คน แบ่งเป็น
คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 6 ราย
คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 2 ราย
คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดิกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธพ.ศ. 2490 จำนวน 944 ราย
คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 7 ราย
ในขณะที่ศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ 22 พ.ค.57-30 กันยายน 58 จำนวนคดีทั้งหมดที่รับฟ้อง128 คดี (จากคดีทั้งหมด 192 คดี)
คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 21 คดี
คดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จำนวน 4 คดี
คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดิกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 76 คดี
คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 27 คดี
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครประเภทคดีซึ่งสู่การพิจารณามากที่สุดคือ คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 ซึ่งความผิดดังกล่าวอาจเกี่ยวโยงถึงความผิดต่อชีวิตและร่างกายซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต จำนวนผู้ต้องหาและจำเลยนับพันรายในคดีประเภทดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าย่อมไม่ใช่เพียงจำนวนคดีซึ่งเกี่ยวข้องทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยเหตุอื่นด้วย
ศาลทหารซึ่งโดยโครงสร้างและสังกัดแล้วขาดความเป็นอิสระและเป็นกลาง การพิจารณาคดีโดยตุลาการซึ่งองค์คณะจบกฎหมายเพียงท่านเดียว และคดีซึ่งเกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวนั้นไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้นั้นทำให้พลเรือนขาดหลักประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น