วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

กมธ.ร่าง รธน. เตรียมยกเลิกคำว่า "องค์กรอิสระ" และใช้คำว่า "องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ"


คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาร่าง รธน. รายมาตราในภาค 3 ว่าด้วยเรื่องนิติธรรม-ศาล "บรวศักดิ์ อุวรรณโณ" เผยเตรียมแก้ไขชื่อ "องค์กรอิสระ" แล้วเรียกใหม่เป็น "องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" ด้านประธาน สปช. ห่วงเงื่อนเวลาต้องพิจารณาร่าง รธน. 2 รอบ แต่ยังยืนยัน สปช. ทำงานไม่ล่าช้าแค่ไม่ทันใจ และไม่มีปัญหากับรัฐบาล
20 ม.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็ยประธานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลา 09.00 น. วันนี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราต่อเนื่อง ในภาค 3 ว่าด้วย นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
โดยเป็นการพิจารณาต่อจากวานนี้ ที่มีการพิจารณาในบททั่วไปของศาลและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีการบัญญัติหลักการพื้นฐานสำคัญของหลักนิติธรรม 5 ข้อ ถือเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญที่ได้มีการบัญญัติไว้
ทั้งนี้ กรรมาธิการ ได้กำหนดกรอบเบื้องต้นในการพิจารณาหมวดของ ศาลและหลักนิติธรรม ให้แล้วเสร็จภายในวันพุธที่ 21 มกราคมนี้ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม และตลอดสัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาการเรื่อง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งได้มีการเสนอให้ยกเลิกคำว่า "องค์กรอิสระ" และใช้คำว่า องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทน
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานด้วยว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. กล่าวยอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องเงื่อนเวลาในการทำงานของ สปช. เนื่องจากต้องแบ่งเวลามาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2 รอบ คือหลังยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จในเดือนเมษายนนี้ และต้องลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ช่วงเดือนกันยายน 2558 ทำให้การทำงานของ สปช. ขาดความต่อเนื่อง และมีระยะเวลาในการทำงานสั้น จึงเตือนให้สมาชิก สปช.รับทราบเพื่องวางแผนให้ดี และเร่งทำงานด้านปฏิรูปไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม และกลับมาเร่งทำงานอีกครั้งหลังเดือนกันยายนไปจนถึงธันวาคม ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำงาน ของ สปช. ไม่ได้ล่าช้าแต่ไม่ทันใจ
ประธาน สปช. กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง สปช. กับรัฐบาล ว่า โดยได้หารือเรื่องการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ซึ่งการตัดสินใจเป็นของรัฐบาล และสปช.เป็นเพียงอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความเห็นเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นที่รัฐบาลขอความเห็นไป ดังนั้นการที่รัฐบาลไม่รับฟังไม่ถือเป็นความขัดแย้ง และไม่เป็นปัญหาการทำงานระหว่าง สปช. และรัฐบาล ส่วนกรณีที่นายวิษณุระบุว่า มีแม่น้ำบางสายไหลเชี่ยว นั้นไม่น่าจะหมายถึง สปช. เพราะส่วนตัวเห็นว่า แม่น้ำสาย สปช. ยังไหลช้าเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานระหว่างรัฐบาล และสปช. รวมถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรไม่ลงรอยกันหรือมีปัญหา แต่เป็นเพียงความเห็นต่างจึงไม่น่าจะมีผลถึงขั้นยกเลิก(คว่ำ)ร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น