วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

กรรมการสิทธิฯถูกลดเกรดเป็น B สุณัยแนะรีบพิสูจน์ตัวเอง ยุค คสช.


กรรมการสิทธิของไทยถูกลดระดับจาก A เป็น B หลังถูกประเมินมีปัญหาหลายส่วน ด้านสุณัย ผาสุข แนะเร่งพิสูจน์ตัวเองด้วยการมีบทบาทเชิงรุกต่อสถานการณ์สิทธิในประเทศที่เข้าขั้นวิกฤตแล้ว
28 ม.ค. 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถูกลดระดับจากสถานะ A เป็น B อย่างเป็นทางการ หลังคณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มีมติเสนอให้ลดระดับ กสม. ของไทย จากสถานะ A เป็น B เมื่อปี 2557
ในรายงานเมื่อ ต.ค. 2557 ICC แสดงความกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการคัดเลือก กสม., การขาดการคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และความล้มเหลวในการตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยอยู่ใต้การปกครองของทหาร ทั้งนี้ ICC ให้เวลา กสม. 12 เดือนในการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ย. 2558 ICC เสนอให้ลดระดับ กสม. เป็น B หลังไม่มีการดำเนินการตามคำแนะนำของ ICC
ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ระบุด้วยว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช้โอกาสนี้ในการรับเอาข้อเสนอแนะของอนุกรรมการ เพื่อทำให้ กสม.ของไทย กลับมาอยู่ในสถานะ A อีกครั้ง
สำหรับการได้สถานะ B จะส่งผลคือ
1) จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ รวมถึงการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในต้นปี 2559
2) สถานะของ กสม. คือ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่น การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Asia Pacific Forum on National Human Rights Institutions)
3) จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้
สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ผลจากการลดระดับครั้งนี้ ในทางรูปธรรม สถานะของ กสม.เวลาไปร่วมประชุมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ จะไม่สามารถนำเสนอได้ จะเป็นได้แค่ผู้สังเกตการณ์ เท่ากับจะไม่มีบทบาททั้งในเชิงที่จะไปมีส่วนร่วมตัดสินใจประเด็นสำคัญๆ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและคณะทำงานสิทธิฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายหรือข้อผูกพันระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า ไทยเคยมีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น การผลักดันให้มีการผ่านมติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือหลักการเนลสัน แมนเดลลา เรื่องสิทธิผู้หญิง เรื่องความหลากหลายของเพศสภาพ
เขาชี้ว่า การลดระดับลงมามีผลชัดเจนในเรื่องของการตอกย้ำว่ากลไกระดับประเทศในการตรวจสอบและปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศ เพราะมาตรฐานของ กสม. เป็นประเด็นต่อเนื่องจาก กสม. ชุดที่แล้ว แทนที่จะมีการแก้ไขให้ดีขึ้น กลับไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เรื่องการสรรหาที่ไม่โปร่งใสไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรสิทธิมนุยชน คุณสมบัติของผู้ที่มาเป็น กสม. ที่ไม่ได้ถูกคัดกรองตามกติการะหว่างประเทศ อย่างหลักการปารีส (Paris Principles) ทำให้ได้บุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ ท่าทีความเป็นกลางของ กสม. ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจาก กสม. ชุดที่แล้ว ก็สะท้อนว่าปัญหาที่เป็นเรื่องของการเมืองแบ่งขั้วในประเทศ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้สนใจประเด็นการปกป้องคุ้มครองส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศเข้ามามีอำนาจก็สะท้อนออกมาในความเป็นตัวตนของ กสม.
กรณีที่ กสม.เคยชี้แจงประเด็นเรื่องการสรรหาแต่งตั้งว่าอยู่นอกเหนืออำนาจ กสม. หรือบางประเด็นยังอยู่ระหว่างรอร่างรัฐธรรมนูญอยู่ สุณัยกล่าวว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์เคยออกแถลงการณ์สองครั้งใหญ่ๆ ในสมัย อ.อมรา เป็นประธานและสมัยที่ กสม.ชุดนี้ได้รับเลือก โดยชี้ว่ากระบวนการนั้นไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น ทางแก้มีสองทาง คือ ระยะสั้นหรือเฉพาะหน้าคือ ตัวบุคคลที่ลงสมัครก็ควรแสดงสปิริต แสดงจุดยืนทางหลักการด้วยการลาออก เพราะเมื่อตั้งใจมาทำงานก็ควรทำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นการแสดงออกที่สามารถทำได้ อยู่ในวิสัยของตัวผู้สมัครเอง แล้วให้เกิดกระบวนการสรรหาใหม่ ที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ยาวกว่า คือแก้ไขกระบวนการสรรหา
สุณัย กล่าวต่อว่า หรือหากไม่ลาออก การทำหน้าที่ก็จะสามารถตอบโจทย์อีกโจทย์ได้ว่ากระบวนการสรรหามีปัญหา และระหว่างที่รอให้มีการแก้กระบวนการสรรหา ก็ทำหน้าที่ในระหว่างปฏิบัติงานให้ตอบโจทย์ที่เป็นข้อจำกัดให้ดีขึ้น แต่ว่าตั้งแต่ชุดที่แล้ว จนมาถึงชุดนี้เราไม่เห็นความพยายามที่ชัดเจนในการตอบโจทย์อันนั้น ปัญหาเรื่องการเลือกทำประเด้นยังมีอยู่ ฝักฝ่ายก็ยังมีอยู่ ใน กสม.ชุดที่แล้ว ที่เป็นที่วิจารณ์ที่เป็นที่รับรู้ในสังคม พอมา กสม.ชุดใหม่ เข้ามาก็ไม่มีบทบาทในเชิงรุก ทั้งที่ตอนนี้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในสายตาของฮิวแมนไรท์วอชท์อยู่ในสภาพวิกฤตอย่างหนัก บทบาทของ กสม. ต้องเป็นบทบาทเชิงรุก เราก็ไม่เห็นบทบาทนั้น
นอกจากนี้ ยังมีการตัดแบ่งงานด้านสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากหลังรัฐประหาร ออกจากกัน แทนที่อนุกรรมการชุดนี้ จะถูกส่งเสริมให้แข็งแกร่ง กลับถูกแยกออกจากกัน ทั้งที่ในกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เรื่องสองเรื่องอยู่ด้วยกัน และหลังจากตัดแบ่งเห็นได้ชัดเลยว่าบทบาทหายไป จากเดิมซึ่งเคยเป็นอนุฯ ที่แข็งขันที่สุด มีบทบาทต่อสาธารณะชัดเจนที่สุด ในสมัยที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พอจับแยกก็จะเห็นบทบาทของ อังคณา ในอนุพลเมือง แต่บทบาทของอนุการเมือง ที่มีประธาน กสม. มาดูแลเอง เราไม่เห็นบทบาทที่เด่นชัดเลย และยังมีเรื่องย้อนแย้งอย่างกรณีที่ นิวเคยไปร้องเรียนว่าถูกคุกคามสิทธิไม่ให้ทำกิจกรรม แล้วพอจ่านิวถูกอุ้ม แทนที่ กสม.จะมีบทบาทเข้าไปช่วย เราก็ยังไม่เห็นท่าทีจาก กสม.ออกมาเลย ทั้งที่กรณีนี้เป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก
"เหล่านี้ก็สะท้อนว่า ระหว่างที่มีโอกาสจะตอบโจทย์ที่เป็นข้อกังวลของ ICC ที่เขาปรับเกรดเพื่อเร่งให้มีการยกสถานะกลับไป เราไม่เห็นความพยายามที่จะทำอะไรในทางปฏิบัติ นอกจากให้สัมภาษณ์ว่าอยากจะฟื้นสถานะ" สุณัยกล่าวและว่า แล้วถ้าเกิดจะหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ไขกระบวนการสรรหา ก็ดูจะลำบากเพราะมันไม่ได้ถูกเขียนให้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น โอกาสที่เราจะเห็นการสรรหาที่ดีขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นโอกาสเดียวที่ กสม.จะยกระดับตัวเองได้ก็คือต้องช่วยตัวเองก่อน แต่เราไม่เห็นความพยายามที่จะช่วยตัวเองเลย ไม่เห็นความพยายามที่จะพิสูจน์ตัวเองเลย
"กสม.ชุดใหม่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องกระบวนการสรรหา จะมีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติของ กสม.แต่ละคน แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และแก้ไขเพิ่มเติมได้ ไม่มีประสบการณ์ ก็สามารถเรียนรู้ เรียกผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปสนับสนุนการทำงาน และมีบทบาทในเชิงรุกที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ตอนนี้เหมือนกับรอให้มีผู้ร้องเรียน ซึ่งมันไม่ใช่ และต่อให้มีผู้ร้องเรียนแล้ว ก็ยังไม่เห็นมีการทำงานในหลายๆ เรื่อง" สุณัยแนะนำ
เขาย้ำว่า สิ่งที่ กสม.ทำได้เฉพาะหน้า เร็วที่สุดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ พิสูจน์ตัวเองให้เห็นด้วยการมีบทบาทเชิงรุกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยที่เข้าขั้นวิกฤตแล้ว แล้วตอนนี้มันหนักไปทุกเรื่อง ทั้งสิทธิทางการเมืองและพลเมืองที่กล่าวไปแล้ว ทั้งสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมก็มีปัญหา คนออกจากป่า สิทธิชาวเล เหมือง สิทธิยา สุขภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น