ภาพเจ้าหน้าที่ทหารเข้าพูดคุยในที่ทำการกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เมื่อคืนที่ผ่านมา
14 ม.ค. 2559 หลังจากเมื่อช่วงค่ำของคืนที่ผ่านมา (13 ม.ค.59) เจ้าหน้าที่ทหารจากศูนย์ดำรงธรรม วัดเทียนดัด เดินทางเข้าไปที่ทำการสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง หรือที่ทำการกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ซึ่งเป็นที่พักของนางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานกลุ่มฯ และนางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานฯรวมถึงกรรมการสหภาพแรงงาน ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อขอพบและพูดคุยกับ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด วันนี้ voicelabour.org รายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวประเด็นดังกล่าว โดย วิไลวรรณ แถลงว่า กรณีการเคลื่อนไหวของคนงาน เนื่องจากตนต้องการเสนอให้รัฐบาลแก้ไขเร่งด่วน เพราะปัญหาของคนงานซันโคโกเซ ที่ถูกนายจ้างปิดงาน แล้วนำแรงงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทน ยาวนานมาประมาณเดือนเศษที่ผ่านมา และมีเจรจาไกล่เกลี่ยมาราว 20 ครั้ง ถือเป็นความลำบากของคนงานในเป็นเรื่องเศรษฐกิจและชีวิตของคนงานอย่างมาก เพราะไม่มีรายได้ในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนงานเองก็ต้องการที่จะกลับเข้าทำงานไม่ได้ต้องการชุมนุม และขณะนี้ก็มีประเด็นการชุมนุมแล้วผิดกฎหมายการชุมนุมสาธารณะจนมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับคนงานอีก ส่วนเรื่องข้อเรียกร้องก็เสนอว่าให้ไปพูดคุยเจรจากันภายใน โดยใช้หลักการแรงงานสัมพันธ์ จึงต้องการให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาแก้ไขปัญหาแรงงานที่เรื้อรังกันมานานนับเดือน ซึ่งในวันที่ 15 ม.ค.นี้ทางสหภาพแรงงานซันโค โกเซ ประเทศไทย จะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งที่จังหวัดระยอง ซึ่งหากไม่สามารถเจรจากันได้ ทาง คสรท.ได้มีมติร่วมกันว่า จะเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกเข้ามาแก้ไขปัญหานี้
วิไลวรรณ ระบุถึงเรื่องการติดตามของเจ้าหน้าที่ทหาร และชายนอกเครื่องแบบว่า มีการติดตามตนเอง และกรรมการ คสรท. ซึ่งล่าสุดได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจกว่า 10 นาย เข้าไปที่ทำการสหภาพแรงงานในยามวิกาล การเข้าไปในโรงงาน หรือหอพัก ทำให้ตนรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก แต่การที่เข้าไปในยามวิกาลจะให้รู้สึกสบายใจได้อย่างไร ถึงแม้ว่า ทางเจ้าหน้าที่ทหารจะบอกว่าไม่มีอะไร เพียงต้องการทราบเรื่องความเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานว่า อาจส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงต่อบ้านเมืองก็ตาม แต่การที่เข้าไปขอคุยด้วยยามค่ำคืนนั้นดูไม่เหมาะสม การออกมาเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานเป็นการเคลื่อนไหวให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนไม่ใช่เรื่องการเมือง
วิไลวรรณ ระบุว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะบอกว่ามาดูแลเรื่องความเรียบร้อยเพื่อให้ผู้นำแรงงานได้รับความปลอดภัย แต่ตนคิดว่าไม่จำเป็น ตอนนี้ก็ปลอดภัยดี และรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยมากกว่า คือต้องการที่จะเดินทางไปไหนได้อย่างอิสระและมีเสรีภาพ ไม่ต้องการให้มีผู้ติดตาม ต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานยกเลิกการติดตามเถอะ และเข้าใจว่าทหารก็ไม่อยากมาติดตาม ก็ขอเรียกร้องให้ทางหัวหน้าให้ระงับ ยกเลิกคำสั่งในการติดตามเสีย และให้ทางหน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาของคนงานชันโคโกเซ ให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกคดีความที่มีการฟ้องร้องคนงานด้วย หากยังไม่ได้รับการแก้ไขในพื้นที่ทาง คสรท.ก็มีความจำเป็นที่ต้องเดินทางไปหานายกรัฐมนตรี เพื่อให้เข้ามาแก้ไขในวันอังคารที่ 19 มกราคมนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้หลังจากแถลงข่าวจบทางเจ้าหน้าที่ทหาร ได้เชิญ วิไลวรรณ ไปพบ พล.ต. สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้บัญชาการ มณฑลทหารบกที่ 11
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น