วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

วอนประยุทธ์รับผิดชอบหลังปลูก 'หมามุ่ย' แล้วขายไม่ได้ ตามที่ขายฝันไว้


จากกรณีที่ราคายางพาราตกต่ำ แนวคิดหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำมาเสนอชาวสวนยางคือการหาพื้ชอื่นปลูกเสริมหรือทดแทน เช่น กล้วย และสตอเบอรี่ โดยก่อนหน้านั้นเมื่อ 8 ก.ค. 58 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยเสนอให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชสมุนไพร โดยระบุว่าในเมื่อเราไม่สามารถปลูกข้าวได้ ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปดูแลว่าจะปลูกพืชสมุนไพรได้หรือไม่ โดยจะนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน สร้างโรงงานเพิ่ม
“วันนี้เราขายหมามุ่ยได้กิโลกรัมละกว่า 800 บาท หมามุ่ยอินเดียนะ เพราะฝักมันใหญ่ เอามาปลูกแล้วขายกิโลกรัมละ 800 บาท  แต่ตอนเขาเอาไปทำแล้วกลับมาเป็นยาหรือเป็นวัตถุดิบที่สำเเร็จรูปแล้ว กลับมาเป็นกิโลกรัมละ 8 หมื่นบาท 10 เท่าน่ะ แล้วทำไมยังโง่ปลูกอย่างอื่นอยู่ ที่มีกำไรเพียงพันบาท สองพันบาท แต่เราต้องควบคุมนะ จะทำอะไรก็ตามมันต้องมีดีมานด์ และซับพลายที่มันสมดุล ถ้าซับพลายการผลิตมากกว่าการตลาด มันก็เหลือล้นคลัง มันเป็นภาระของรัฐบาล มีต้นเหตุของการรั่วไหล ต้นเหตุของการใช้ประชานิยม แต่ข้าวยังดีอยู่นะ ข้าวที่เสียเป็นเรื่องรัฐบาลที่แล้วรับผิดชอบ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธีก็แล้วกันนะ เป็นความคิดคนละอย่างกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในครั้งนั้น
ร้องประยุทธ์ เจ้าของไอเดียปลูกหมามุ่ย ช่วยหาตลาด หลังปลูกแล้วขายไม่ได้
อย่างไรก็ตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าวเริ่มประสบปัญหา ล่าสุดวานนี้ (14 ม.ค.59) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ จ.อำนาจเจริญ ได้มีนายสุนทร ลำงาม อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47 ม. 9 ต.คำโพน อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ และเพื่อนเกษตรกรอีก 3 คน ได้เข้าพบผู้สื่อข่าวไทยรัฐเพื่อร้องทุกข์ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยแก้ปัญหาหมามุ่ยที่พวกตนได้ปลูกทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้หมามุ่ยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ไม่มีตลาดรองรับ กล่าวคือปลูกได้ผลผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ จึงวอนให้นายกฯ หรือรัฐบาลหาตลาดให้ ตามที่เคยแนะนำเกษตรกรไว้
นายสุนทร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 57 พวกตนได้รับการชักชวนจากญาติๆ ว่า มีบริษัท บ้านไร่เกษตรฯ สำนักงานตั้งอยู่ ต.ขามเปี้ย อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราแต่ราคาตกต่ำ ให้หันมาปลูกหมามุ่ยแทนซึ่งมีรายได้สูง กก.ละ 2,000 บาท หรือ 150,000 ต่อไร่ ประกอบกับต่อมา นายกรัฐมนตรี ได้พูดออกทีวี สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพร ยกตัวอย่างหมามุ่ยเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแปรรูปแล้วมีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่า พวตนจึงได้ตกลงใจสมัครเป็นสมาชิก และทำหนังสือสัญญาแรกเข้ารายละ 4,900 บาทกับทางบริษัท ซึ่งให้เมล็ดพันธุ์หมามุ่ยคนละ 300 เม็ดพร้อมกับยา จากนั้นได้ลงทุนเตรียมแปลงปลูก ทำร้าน และซื้อปุ๋ยอินทรีย์ เพราะต้องการให้เมล็ดปลอดสารพิษ รวมค่าใช้จ่าย ตกไร่ละ 3-4 หมื่นบาท
เกษตรกรผู้ปลูกหมามุ่ย กล่าวอีกว่า ทางบริษัทฯรับปากว่า หากไม่มีตลาดทางบริษัทยินดีรับซื้อทั้งหมด แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวจริงๆ ได้ติดต่อไปทางบริษัท ปรากฏว่าไม่รับแม้แต่โทรศัพท์ ทำให้คิดว่าพวกตนน่าจะถูกหลอก จึงได้รวมตัวกันเข้าพบผู้สื่อข่าว เพื่อวอนไปถึงนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือหาตลาดให้ เพราะเรื่องนี้นายกฯเคยแนะนำไว้กับเกษตรกรทางโทรทัศน์
สุรพงษ์ หวังประยุทธ์รับผิดชอบไอเดีย
ขณะที่วันนี้ (15 ม.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า รู้สึกสงสารชาวสวนยางที่จังหวัดอำนาจเจริญ หันไปปลูกพืชเสริมในสวนยางตามคำแนะนำของท่านนายกฯประยุทธ์ที่ออกมาพูดเสียงดังฟังชัดผ่านสื่อโทรทัศน์โชว์วิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำว่าให้เกษตรกรหันมาปลูกหมามุ่ย เพราะราคาดีและเขาเอาไปทำเป็นยาสมุนไพรจะมีรายได้ดีเป็นอาชีพเสริมก็ปรากฏว่าพี่น้องชาวสวนยางทำตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แนะ ผลก็ปรากฎว่าผลผลิตออกมากลับขายไม่ได้ คนที่จะรับซื้อก็ไม่มี ชาวสวนยางอำนาจเจริญจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแล หวังว่าพล.อ.ประยุทธ์คงจะต้องสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯดูแลโดยอาจจะเข้าไปรับซื้อช่วยพยุงราคาหมามุ่ยให้แก่เกษตรกร

นายสุรพงษ์กล่าวว่า อยากขอให้นายกฯเร่งดำเนินการเตรียมการเข้าให้ความช่วยเหลือสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่ราคาผลผลิตตกต่ำสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรเอาไว้ให้พร้อมด้วยเพื่อเข้ารับซื้อแทรกแซงราคาและซื้อนำตลาด โดยใช้หลักเกณท์เช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางเป็นบรรทัดฐานเดียวกันด้วย กล่าวคือยางแผ่นกิโลกรัมละ 33 บาทรัฐบาลตกลงรับซื้อในราคา 45 บาทต่อกิโลก็เท่ากับว่ารัฐบาลรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 36% ก็อยากเห็นรัฐบาลประยุทธ์ช่วยรับซื้อผลผลิตการเกษตรทุกชนิดด้วยหลักเกณท์เดียวกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยเฉพาะข้าวเปลือกจากชาวนาด้วย ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวเปลือกตกตันละ6,000-7,000 บาท เท่านั้น ซึ่งถ้ารัฐบาลช่วยรับซื้อในราคานำตลาดที่สูงกว่า 36% เหมือนราคายาง ชาวนาก็จะได้ราคาข้าวตันละ 8,160-9,520 บาท เชื่อได้ว่าถ้าได้แบบนี้ชาวนาก็น่าจะอยู่ได้ไม่เดือดร้อน ในปีนี้ก็จะมี อ้อย มันสำปะหลัง ลำใย และ มะนาว ซึ่งมะนาวท่านนายกฯก็แนะนำให้ปลูกกินเองทุกครัวเรือน ปีนี้ผลผลิตล้นตลาดราคาก็คงตกต่ำแน่นอน ชาวสวนมะนาวเดือดร้อนอีกแน่นอน ก็อยากฝากถึงท่านนายกฯว่าการเป็นผู้นำพูดอะไรต้องระมัดระวัง เพราะคนจะเชื่อคำพูดท่านนายกฯแล้วปัญหาก็อาจตามมาในภายหลังได้เช่น เรื่องหมามุ่ย และมะนาว เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น