สุริชัย หวันแก้ว ยื่นคำให้การต่อตร. คดี 'อรรถจักร์-สมชาย' นักวิชาการแถลง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ระบุดำเนินคดีไม่ใช่หนทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ชี้ 2 ผู้ต้องหาไม่ได้ยั่วยุ แต่เป็นการเตือนสติคนในสังคม
26 ม.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองผู้ต้องหา ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี
โดยในวันนี้ สุริชัย หวันแก้ว หนึ่งในพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อพนักงานสอบสวน ให้การสนับสนุนผู้ต้องหาทั้งสองคน โดยยืนยันว่าการดำเนินคดีกับนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นทางวิชาการไม่ใช่หนทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งยืนยันบทบาทของนักวิชาการที่มีต่อความขัดแย้งในสังคม
โดยมีใจความสำคัญของคำให้การมีดังต่อไปนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ของสังคมไทยอย่างน้อย 10 ปี ที่ผ่านมา เราติดอยู่ในกับดักของความขัดแย้ง เมื่อมีใครก็ตามเสนอแนวคิด หรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับเรา เราก็จะพยายามผลักให้คนเหล่านั้นออกไปเป็นคู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นกับดักที่ทำให้สังคมไทยจมปลักอยู่กับเรื่องเดิมๆ จนไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้อีกประการหนึ่ง ผู้มีอำนาจหรือคนในสังคมไม่เข้าใจ หรือขาดความพยายามทำความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งให้มากพอ เราจึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการบังคับให้เงียบหรือใช้กฎหมายมาปิดปาก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงรูปแบบเท่านั้น แต่ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลในเชิงเนื้อหา เพราะเราแก้ไขปัญหาจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่ปรากฏให้เห็นเพียงน้อยนิดเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น และเรามักจะมองข้าม ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำความเข้าใจคนที่คิดเห็นแตกต่างหรือมีประสบการณ์แตกต่างกัน เท่าที่ผ่านมาสังคมไทยจึงมักแก้ปัญหาแบบ “ขอไปที” มองข้ามความสำคัญของการเข้าใจต่อกัน และร่วมทุกข์วิเคราะห์ลงไปในฐานของภูเขาน้ำแข็ง ให้เห็นถึงรากเหง้าที่แท้จริงอันมีความสลับซับซ้อนของความขัดแย้งในสังคมไทยสังคมไทยจึงติดอยู่ในกับดักความขัดแย้งที่แฝงด้วยความเสี่ยงต่อความรุนแรง มองไม่เห็นรากเหง้าที่แท้จริงของความขัดแย้ง และด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งทางวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนให้สังคมมีความเจริญงอกงามทางปัญญา จึงต้องทำหน้าที่ของตน อาจารย์และนักวิจัยมีภารกิจและบทบาทอันสำคัญที่จะต้องนำเสนอแนวคิดหรือแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ เพื่อช่วยผลักให้คนในสังคมก้าวพ้นจากกับดักความขัดแย้งนี้ไปได้การดำเนินคดีกับนักวิชาการ ที่ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยผลักให้คนในสังคมก้าวพ้นความขัดแย้งแบบเดิมๆ จึงเป็นการทำลายบรรยากาศเชิงบวกของสังคม และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะเท่าที่สังเกตมานักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่ต้องการจะแยกขั้วขัดแย้งทางการเมือง ในทางตรงกันข้ามนักวิชาการกลุ่มนี้แสดงความคิดเห็นทางวิชาการด้วยสำนึกในหน้าที่ในขอบเขตของนักวิชาการ ให้คนในสังคมได้ใช้ความระแวดระวังมากขึ้น เพื่อจะลดความขัดแย้งและมิต้องจมดิ่งลึกลงไปในปัญหานี้การกระทำของบุคคลทั้งสองในคดีนี้จึงไม่ใช่การกระทำมุ่งให้มีการเผชิญหน้าหรือยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่เป็นการเตือนสติคนในสังคม เพราะในสังคมใดหากไม่มีการเตือนสติกันแล้ว สังคมนั้นๆ กลับจะเสี่ยงอันตราย เนื่องจากมีโอกาสจะมองข้ามปัญหาและประมาทต่อสถานการณ์ และอาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือความเสียหายด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ตามมาได้ง่ายการที่ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับนักวิชาการในฐานะเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ได้จัดแถลงการณ์นี้เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหา ไม่ต้องเข้าสู่กับดักของความรุนแรงทางการเมือง และการแถลงข่าวก็ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่การปลุกระดมทางการเมืองแต่อย่างใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น