วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

รัฐบาลหารือปราบหมิ่นสถาบันฯ เผยประสานยูทูบ-กูเกิล-เฟซบุ๊ก บล็อค


หารือปราบปรามผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ม.ล.ปนัดดา เผยประสานโซเชียลมีเดียระงับการเข้าถึงข้อมูล ด้านผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ระบุตั้งแต่ปี 2549 มีประมาณ 462 คดี ทั้งหมดอยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้า 
7 ม.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วานนี้ (6 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกรณีการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีตัวแทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือ
ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย และสะเทือนใจกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในสื่อต่างๆ ขณะนี้ จึงสั่งการให้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จึงให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันในเรื่องนี้ และขอให้กระทรวงไอซีที จัดทำแผนงานในการแก้ไขปัญหา เพื่อเผยแพร่ให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินการต่อไป
ผู้แทนกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การตรวจสอบการกระทำความผิดที่เข้าข่ายการหมิ่นสถาบันผ่านทางเว็บไซต์ พบว่าไม่ได้มีแอคเคาท์เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากในช่วงยุคโซเชียลมีเดียทำให้ระบบจะจดจำการใช้ข้อมูลของผู้ใช้ มีการเชื่อมโยงข้อมูล แนะนำข้อมูลที่เคยเข้าถึงหรือค้นหาข้อมูล ทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น สำหรับแนวทางปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งปัจจุบันมีการเข้ารหัส ทำให้หาตำแหน่ง URL ได้ยากมากขึ้น จึงประสานงานกับผู้จัดทำเว็บไซต์ยูทูบ และกูเกิล ผ่านฝ่ายต่างประเทศและความมั่นคง ช่วยการระงับการเผยแพร่ได้มากขึ้น
ม.ล.ปนัดดา ระบุว่า ในเบื้องต้นมีผู้กระทำผิด ไม่เกิน 100 รายการในส่วนของกูเกิล และในเฟซบุ๊ก พบว่ามีจำนวนการกระทำผิด 20-30 รายการ แม้จะเป็นการโพสต์ในไทย แต่การจะลบข้อความก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะต้องส่งข้อมูลไปยังแม่ข่ายในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นหากพบการกระทำผิด สามารถแจ้งรายละเอียดได้ผ่านสายด่วนไอซีที 1212 เพื่อให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยตรง
ด้านผู้แทนกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า แนวโน้มการกระทำความผิดในขณะนี้มักจะเชื่อมโยงกับผู้เคลื่อนไหวในต่างประเทศ  โดยมีผู้กระทำผิดและอยู่ระหว่างดำเนินคดี 22 ราย ซึ่งการประสานดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต้องประสานกับประเทศนั้น ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ชี้แจงข้อเท็จจริง ปรับทัศนคติ โดยการดำเนินคดีทั้งหมดนับตั้งแต่ปี 2549 มีประมาณ 462 คดี ที่อยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าในทุกคดี พร้อมควบคุมผู้กระทำผิดทั้งกลุ่มที่หลบหนีไปต่างประเทศ จำนวน 22 ราย บุคคลที่เป็นเครือข่ายสนับสนุน 17 ราย  กลุ่มที่ใช้นามแฝงต้องพิสูจน์ตัวตน 33 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างติดตาม ควบคุมไม่ให้เพิ่มจำนวน นอกจากนี้ยังตั้งคณะกรรมการให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม หาแนวทางป้องกันการปลูกฝังความเชื่อที่ไม่เหมาะสมให้เยาวชนรุ่นใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น