วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นักวิจัยเผย ไทยติดประเทศมีคนตายจากอาวุธปืนสูงสุดในเอเชีย-มากกว่าสหรัฐ 2 เท่า


นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสำรวจพบว่าประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงสุดในเอเชีย ซึ่งนักวิจัยมองว่าประเทศที่มีโอกาสการศึกษาที่ดีและมีสวัสดิการดีจะทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมด้วยปืนลดลง ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าในไทยยังมีเรื่องขอการหาอาวุธปืนได้ง่าย วัฒนธรรมกลัวเสียหน้า และปัญหาการลอยนวลของผู้ก่อเหตุ
22 ก.พ. 2559 เว็บไซต์นิตยสาร Elite+ รายงานว่า ประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงที่สุดในเอเชียและมากกว่าในสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า
งานวิจัยจากสถาบันเพื่อสุขภาวะและมาตรชี้วัด มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่าในปี 2556 ในประเทศไทยมีอัตราคนเสียชีวิต ด้วยปืน 7.48 คน ต่อประชากร 100,000 คน ประเทศในเอเชียที่มีระดับสถิติผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนรองลงมาคือฟิลิปปินส์ มีอัตราคนที่เสียชีวิตด้วยปืน 4.64 คน ต่อประชากร 100,000 คน เทียบกับสหรัฐฯ แล้วมีอัตราคนเสียชีวิตด้วยปืน 3.55 คน ต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้ในสถิติงานวิจัยดังกล่าวยังเผยให้เห็นว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในญี่ปุ่นและสิงคโปร์แทบจะไม่มีเลย
อาลี ม็อคดัด หนึ่งในทีมนักวิจัยผู้ศึกษาด้านสุขภาวะและระบาดวิทยากล่าวว่า สิ่งที่ทำให้บางประเทศมีอัตราอาชญากรรมที่มีการใช้อาวุธปืนน้อย เนื่องจากมีการให้โอกาสทางการศึกษาแก่กลุ่มวัยรุ่นมากและมีสวัสดิการสังคมที่ดี ทำให้วัยรุ่นเหล่านี้ไม่ไปเข้ากลุ่มแก๊งอาชญากรรมหรือซื้อหาอาวุธปืนมาใช้ โดยในงานวิจัยเดียวกันมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในแถบอเมริกากลางสูงมาก ซึ่งม็อคดัดกล่าวว่า ในประเทศเหล่านี้มีกลุ่มแก๊งอาชญากรและการค้ายาจำนวนมาก รวมถึงมีกลุ่มวัยรุ่นเข้าร่วมกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ด้วยจึงทำให้เกิดความรุนแรงตามมา
Elite+ ระบุว่าไทยมีกฎหมายอนุญาตให้ครอบครองปืนได้ถ้าหากมีไว้ใช้ป้องกันตัวและป้องกันการบุกรุกทรัพย์สิน แต่การได้ใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนในไทยค่อนข้างง่ายถึงแม้ว่าจะมีการตรวจสอบประวัติและต้องมีอายุถึงเกณฑ์
เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์ Asian Correspondent รายงานเกี่ยวกับการที่ไทยมีสถิติอาชญากรรมด้วยอาวุธปืนสูงเช่นกัน โดยมีการระบุถึงเรื่องแรงจูงใจส่วนใหญ่ว่าเป็นเรื่องของ "การเสียหน้า" หรือ "ความขัดแย้งทางธุรกิจ" ซึ่งมีการขยายประเด็นในเรื่องของ "การเสียหน้า" ที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับในหลายวัฒนธรรมแต่ในไทยดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงจังมาก จนเป็นเรื่องที่น่านำมาถกเถียงอภิปรายและหาวิธีการโต้ตอบการเสียหน้าอย่างเหมาะสมแทนการอ้างว่าการรักษาหน้าตาเป็นพฤติกรรมที่เป็นปกติทั่วไปในวัฒนธรรมนี้
ทั้งนี้ในรายงานของ Asian Correspondent นักข่าวอังกฤษที่เคยประจำการในไทยชื่อ แอนดรูว์ ดรัมมอนด์ ผู้ออกจากประเทศไทยพร้อมครอบครัวหลังจากถูกข่มขู่คุกคามกล่าวว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่อาชญากรรมในไทยสูงเพราะผู้ก่อเหตุมักจะลอยนวลไม่ต้องรับผิดได้โดยง่าย และกระบวนการสืบสวนสอบสวนของทางการไทยก็ไม่น่าเชื่อถือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น