วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ครม. แนะ กรธ. เขียนบทเฉพาะกาล ให้รัฐบาลประยุทธ์มีอำนาจ หลังมีรัฐบาลใหม่


ครม. ส่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แนะเขียนบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษ ไปจนหลังเลือกตั้ง และหลังตั้งรัฐบาลใหม่ ชี้เพื่อความมั่นคง ป้องกันความขัดแย้ง ห่วงประเทศประเทศตกอยู่ในวังวนที่อาจทำรัฐล้มเหลว
18 ก.พ. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า คณะรัฐมนตรีโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นเอกสารรวม 7 หน้า 16 ข้อเสนอ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่รวบรวมมาจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษา สำนักงบประมาณ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
      
ทั้งนี้ มีข้อเสนอข้อสุดท้ายข้อที่ 16 ซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า ขอให้ กรธ. พิจารณาขยายช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง หรือขยายบทเฉพาะการที่ให้คงอำนาจพิเศษเพื่อเหตุผลความมั่นคง ให้ยาวครอบคลุมไปจนหลังการเลือกตั้งและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยอ้างถึงความขัดแย้งที่อาจก่อวิกฤตที่รุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมา
      
“ข้อ 16 ในขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างเกี่ยงกับร่างรัฐธรรมนูญมาก ส่วนใหญ่เป็นความไม่แน่ใจ หรือไม่วางใจในระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ วิธีการที่จะได้คนมาสู่ระบบ และอำนาจหน้าที่ แต่ที่ ครม. เป็นห่วงคือทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ความยุ่งยากโกลาหลความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลว ดังเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้งและภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะหากเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และคุณธรรมของคนในชาติอย่างรุนแรง ประเทศอาจจะตกอยู่ในวังวนหรือบ่วงแห่งการสู้รบ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน การแทรกแซงกลไกของรัฐ การใช้วาจาก่อให้เกิดความเกลียดชัง การล้างแค้น การรื้อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยอ้างความชอบธรรมในนามของระบอบประชาธิปไตยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
และในครั้งนี้อาจหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมอันเป็นสภาวะที่ไม่ปรากฏใน ต่างประเทศ และยากแก่ความเข้าใจของประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศจะสะดุดหรือล้มเหลวจนเป็นไป ไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและความเป็นความตายของประเทศ ครม. จึงเห็นว่าบางทีหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นช่วงสองเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจ หรือช่วงเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงให้มาก ดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้” ข้อเสนอข้อ 16 ดังกล่าวระบุ
นอกจากนี้ ข้อ 15 ในข้อเสนอดังกล่าว ยังระบุขอให้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้สอด คล้องกับโรดแมปของ คสช. กล่าวคือให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้เดือน ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ทำให้เนิ่นช้าออกไป จึงเห็นว่า กรธ. ควรทำเฉพาะกฎหมายเท่าที่จำเป็นแก่การเลือกตั้งและการจัดให้มีวุฒิสภาจนแล้ว เสร็จ เมื่อประกาศใช้แล้ว จึงจัดให้มีการเลือกตั้งในเวลาที่กำหนด ส่วนกฎหมายประกอบอื่นที่จำเป็นอาจทยอยจัดทำในระยะเวลาต่อมาให้เสร็จก่อนการ จัดตั้งรัฐบาลใหม่
สำหรับข้อเสนออื่น ๆ เป็นรายละเอียดที่เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญส่วนต่าง ๆ เช่น ข้อ 14 ครม. เสนอให้แยกหมวดปฏิรูปเป็นหมวดเฉพาะ ข้อ 10 เสนอให้รวมศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในหมวดศาลแทนการแยกออกมาเป็นหมวดเฉพาะ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอที่ 9 เสนอให้คดีทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในศาลฎีกาแผนกคดี อาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรจะเป็นสองชั้นศาล ไม่ควรจัดเป็นระบบศาลเดียว แม้ กรธ.จะให้อุทธรณ์ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะข้อกฎหมายหรือกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น
สำหรับข้อเสนอของสำนักงบประมาณในข้อที่ 8 มีรายละเอียดข้อย่อยเกือบ 3 หน้านั้น เป็นข้อเสนอในปัญหาการใช้ถ้อยคำและการปฏิบัติเกี่ยวกับข้อห้ามใหม่ ที่ กรธ. ห้ามนักการเมืองแทรกแซงยุ่งเหยิงกับการแปรญัตติงบประมาณ เพื่อโยกไปลงพื้นที่ หรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
ส่วนข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมในข้อ 2 นั้น ขอให้เพิ่มสถานการณ์การรบ เพิ่มเติมจากภาวะสงคราม สำหรับกรณีการเกณฑ์แรงงาน และการตรวจสองข่างของสื่อมวลชนก่อนเผยแพร่ โดยอ้างว่าให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และข้อเสนอของกระทรวงศึกษาในข้อ 7.4 เสนอให้รัฐจัดการศึกษาให้ 12 ปีตามเดิม แทนการลดเหลือภาคบังคับ 9 ปี แต่ให้ปรับเรื่องค่าใช้จ่ายที่รัฐออกให้ โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเฉพาะค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อไม่ให้ถูกอ้างให้รัฐต้องออกค่าหนังสือ เครื่องแต่งกาย และค่าใช้จ่ายนอกหลักสูตรไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น