2 ก.พ. 2559 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้ชื่อแถลงการณ์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่”
โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนระบุว่า ร่างฯ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งกว่าฉบับใดๆ ทำให้ระบบการเมืองไทยมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยลง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความยึดโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่กลับมีอำนาจในการกำกับการทำงานของรัฐบาลสูงมาก
วุฒิสภาที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจไว้มากและกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่วุฒิสมาชิกปราศจากการยึดโยงกับประชาชนทั้งหมดในสังคมเกือบสิ้นเชิงเพราะวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกกันเอง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรียกร้องให้สังคมร่วมกันพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ และออกเสียงประชามติ “ไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่”
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมานานกว่าทศวรรษ สังคมไทยได้สูญเสียโอกาสที่จะก้าวหน้า และกลับล้าหลังลงไปในหลายๆ ด้าน โดยที่คณะรัฐประหารไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความหวังที่จะหลุดพ้นจากสภาพดังกล่าวได้เลย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งควรจะเป็นส่วนหนึ่งของทางออกจากวังวนแห่งปัญหา กลับปรากฏปัญหาในเชิงหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
ประการแรก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ในอดีต กล่าวคือ สิทธิเสรีภาพหลายชนิดซึ่งเคยได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ได้ถูกลดทอนลงหรือแม้แต่ถูกตัดออกไป เช่น บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บทบัญญัติที่ให้ความสำคัญแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการด้วยบทบัญญัติเรื่องหน้าที่ของชนชาวไทยและศีลธรรมอันดี และการปฏิเสธพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยได้เคยให้การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าอีกด้วย
ประการที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ระบบการเมืองไทยมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบระบบการเลือกตั้งซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ความอ่อนแอของพรรคการเมืองนี้ย่อมจะส่งผลให้การแทรกแซงของอำนาจนอกระบบอื่นๆ เกิดขึ้นได้ง่ายดังเช่นที่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในสังคมการเมืองไทย
ประการที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความยึดโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่กลับมีอำนาจในการกำกับการทำงานของรัฐบาลสูงมาก เช่น การมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ การพิจารณากฎหมายต่างๆ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ประการที่สี่ ในส่วนของวุฒิสภาที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจไว้มากและกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่วุฒิสมาชิกปราศจากการยึดโยงกับประชาชนทั้งหมดในสังคมเกือบสิ้นเชิงเพราะวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกกันเอง ซึ่งทำให้มีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมของวุฒิสภา ทั้งปัญหาในแง่ที่มาของวุฒิสมาชิกและในแง่ของอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ซึ่งปัญหาความชอบธรรมนี้จะกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของวุฒิสภาอย่างแน่นอน
ด้วยปัญหาทั้งสี่ประการดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดทอนอำนาจของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะเดียวกันก็พยายามสถาปนาอำนาจให้กับชนชั้นนำเพียงบางกลุ่ม จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่” ที่จงใจทำให้รัฐไทยและรัฐธรรมนูญไทยกลายเป็นสมบัติของคนเพียงหยิบมือเดียว มิใช่ของประชาชาชนทั้งหมด ซึ่งถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็จะนำพาสังคมไทยจมดิ่งลึกลงไปในความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น
อนึ่ง จากการออกแบบโครงสร้างและสถาบันการเมืองให้มีลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ย่อมทำให้กลายเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะปรับแก้เนื้อหาเพียงบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะถ้าหากมีการแก้ไขในสี่ประเด็นสำคัญที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมเท่ากับการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั่นเอง
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังแห่งสติปัญญาของสังคมไทยที่จะผลักดันกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นแสงสว่างให้สังคมไทยได้ก้าวพ้นปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ และออกเสียงประชามติ “ไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
2 กุมภาพันธ์ 2559
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น