วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คกก.นักนิติศาสตร์สากล เรียกร้องยกเลิกดำเนินคดีอาญาทนายกลุ่ม NDM

จนท.ตร.นำแผงกั้นล้อม-ใช้กระดาษติดเทปกาวแปะรอบประตูรถทนาย
(ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เรียกร้องยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับทนายกลุ่ม NDM หลังตำรวจส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา แจ้งความเท็จ-ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจพนง. โดยก่อนหน้านี้ ทนายปฏิเสธไม่ให้ตำรวจค้นรถ-แจ้งความกรณีตำรวจยึดรถเอาไว้
5 ก.พ. 2559 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists - ICJ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ทันที
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้รับหมายเรียกสองหมายให้เข้ามารายงานตัวกับสถานีตำรวจชนะสงครามในวันที่  9  กุมภาพันธ์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญา ได้แก่ ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยข้อหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกนานถึงสองปี
“เป็นที่ชัดเจนว่าข้อหาต่อนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ นั้นเชื่อมโยงมาจากความพยายามของเธอที่จะคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนของลูกความซึ่งเป็นนักศึกษา ทั้งนี้ นักศึกษาไม่ควรที่จะถูกจับกุมหรือดำเนินคดีอาญาด้วยเหตุที่มาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบมาแต่แรกแล้ว”  แมทท์ พอลลาร์ด (Matt Pollard) หัวหน้าศูนย์ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และทนายความของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าว
“การดำเนินคดีกับนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ที่เกี่ยวโยงมาจากความพยายามของเธอในการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และจะยังผลให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศมากขึ้นไปอีก” เขากล่าวเสริม
แถลงการณ์ระบุว่า ถึงแม้ว่าในหมายเรียกจะมิได้ระบุโดยละเอียดถึงเหตุผลที่ให้มารายงานตัว แต่เนื่องจากในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหา คือ พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนกรณี  14 นักศึกษา ข้อหาดังกล่าวน่าจะเกี่ยวเนื่องมาจากการพฤติการณ์แวดล้อมที่ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ นักศึกษา 14 รายที่ถูกจับกุมในวันที่ 26  มิถุนายน 2558 ภายหลังการชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้ยุติการปกครองโดยทหาร
สำหรับ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลจำนวนมาก รวมถึงนักกิจกรรม และนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ภายหลังการปกครองโดยทหารซึ่งได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเคยได้แสดงความกังวลกับกรณีที่รัฐบาลไทยมุ่งจัดการ ศิริกาญจน์ เจริญศิริเป็นกรณีเฉพาะ ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2  กรกฎาคม 2558 ภายหลังที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับเธอ โดยได้ประกาศให้สาธารณะรับทราบว่า ทางสำนักตำรวจแห่งชาติอยู่ในระหว่างการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา โดยได้มีการเดินทางไปที่บ้านของศิริกาญจน์ เพื่อสอบถามสมาชิกในครอบครัว จะเห็นได้ว่า ภัยและการคุกคามดังกล่าวเป็นการตอบโต้กับเหตุการณ์ที่ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาค้นรถยนต์ของตน ภายหลังจากที่นักศึกษาขึ้นศาล อีกประการหนึ่งคือเหตุที่ศิริกาญจน์ แจ้งความกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดรถยนต์ของตนเอาไว้
ทั้งนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลได้นำแจ้งกรณีของศิริกาญจน์ ให้ผู้แทนรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้แทนรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้กลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของทุกประเทศสมาชิก
"ก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะได้ทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ และเพื่อที่รัฐบาลไทยจะไม่ดำเนินการขัดแย้งกับ ‘โรดแมป’ ที่วางไว้เพื่อนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งเพิ่มขึ้นในทุกวัน” แมทท์ได้กล่าวเสริม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น