วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

‘วัฒนา เมืองสุข’ ไปรายงานตัว มทบ.11 ลั่นบ่ายสามต้องปล่อย ขู่ฟ้องกักขังหน่วงเหนี่ยว

18 เม.ย.2559 ก่อน 11.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่นายวัฒนา เมืองสุข ประกาศทางเฟซบุ๊กว่าเขาจะมารายงานตัวตามการติดต่อจาก คสช. นักข่าวจากหลากหลายสำนักและผู้สังเกตการณ์จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนทูตานุทูตหลายประเทศได้เดินทางมารออยู่หน้ามณฑลทหารบกที่ 11 เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ นายวัฒนาซึ่งเป็นนักการเมืองที่ถูกปรับทัศนคติรวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แจ้งทางเฟซบุ๊กเมื่อราว 10.30 น.ว่า คสช.ได้เปลี่ยนแผนจากเดิมที่จะไปรับตัวเขาที่บ้าน เป็นการให้เขาเดินทางมาพบเอง ซึ่งแม้เขาจะมั่นใจว่าไม่ได้กระทำการสิ่งใดผิดก็ต้องมารายงานตัวเนื่องจากเกรงว่าจะโดนแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งไม่รายงานตัว

"ผมจึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ผมมาพบ คสช. ตามคำสั่งที่ให้ผมมารายงานตัวที่ มทบ. 11 แต่ คสช. ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวผมไว้ ไม่ว่าเพื่อการใดทั้งสิ้น หากภายใน 15.00 น. ของวันนี้ ผมยังไม่ออกมาคือการที่ คสช. กำลังใช้อำนาจโดยไม่ชอบกักขังหน่วงเหนี่ยวผมไว้ ทำให้ผมขาดอิสรภาพ ซึ่งผมจะดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุด ผมเรียนยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่ได้ทำอะไรที่เป็นความผิด และจะ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" อย่างแน่นอน" วัฒนาโพสต์เฟซบุ๊ก
เวลาประมาณ 11.00 น. นายวัฒนาเดินทางมาถึงหน้า มทบ.11 ได้เดินเข้าไปยังสโมสรซึ่งเป็นร้านอาหารก่อน เพื่อพูดคุยกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และตัวแทนจากสถานทูตนอร์เวย์ แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ เป็นที่น่าสังเกตว่า เพจ Wattana Muengsuk ได้ใช้ฟังก์ชั่นล่าสุดของเฟซบุ๊ก โดยทำการถ่ายทอดสดในช่วงเวลาดังกล่าวไว้โดยตลอดด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาแจ้งให้วัฒนาเดินทางเข้าไปในมทบ.11 ในทันที แต่วัฒนายืนยันจะขอคุยกับกลุ่มคนดังกล่าวก่อน 5 นาที จากนั้นจึงเดินเข้าไปในมทบ.11 และขึ้นรถตู้เข้าไปด้านในพร้อมเจ้าหน้าที่ทหารที่ประกบอยู่นับสิบนาย
ก่อนการรายงานตัวดังกล่าว นายวัฒนายังได้โพสต์ข้อความในเพจระบุว่าประชาชนเจ้าของอำนาจจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และไม่ว่าจะปรับทัศนคติเขากี่ครั้งเขาก็ยืนยันจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบนี้
"โพสต์สุดท้ายก่อนเข้าค่าย"
(อีกครั้งหนึ่ง)
ผมกำลังเดินทางกลับบ้านเพื่อไปพบ คสช. ที่จะมาควบคุมตัวผมเนื่องจากการที่ผมโพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า "ผมก็ไม่รับรัฐธรรมนูญ" ซึ่งผมก็ยังยืนยันว่าผมมีสิทธิจะแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพราะการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน สหประชาชาติจึงบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในข้อ 19 แห่ง "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำรับรองไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1948 อันถือเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเราต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. เป็นผู้ขอพระราชทานมาบังคับใช้เอง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. กำลังจะนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ทุกฝ่ายจึงต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่ากระบวนการประชามติได้เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่แล้ว รวมทั้งประชาชนทราบข้อมูลสำคัญคือหากผลประชามติไม่ผ่านรัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไร การออกเสียงประชามติบนมาตรการปิดกั้นเฉพาะฝ่ายที่คัดค้านดังที่กำลังเกิดขึ้นกับผม หรือการไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ประชาชน จะทำให้การออกเสียงประชามติไม่ได้รับการยอมรับในที่สุด ผมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นและให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนแก่ประชาชน
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย จนทำให้ประชาชนทราบข้อมูลดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้น หากไม่ผ่านการออกเสียงประชามติคือการส่งสัญญาณว่า ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแบบดังกล่าวอีกต่อไป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักในการแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าว การดำเนินการต่อไปจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของอำนาจ ด้วยการให้เจ้าของอำนาจเป็นผู้กำหนดกติกาทางการเมืองด้วยตนเอง เชื่อผมเถิดว่าคนไทยมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเลือกวิถีทางทางการเมืองของตนเองได้โดยไม่ต้องให้ใครมาชี้นำอีก เลิกดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว
ผมจะบอกอะไรให้นะ "จะเอาผมไปปรับทัศนคติอีกกี่ครั้งผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้"
วัฒนา เมืองสุข
พรรคเพื่อไทย
18 เมษายน 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น