วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โฆษกกรธ. แจง 'มีชัย' ไม่ได้บอกให้รับร่างรธน.ไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ไม่หวั่นผิด กม.ประชามติ


15 พ.ค.2559 จากเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ในระหว่างสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เตรียมความพร้อมเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสนช.” ที่จัดโดย  คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการรายงานข่าวว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า วันนี้แก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง 

“ผมเข้าใจว่ากลไกที่เราสร้างไว้มีหลายเรื่องที่สนช.และสปท.ไม่ค่อยเห็นด้วย ก็ยอมรับว่าต่างคนต่างมีแนวคิด แต่ขอได้โปรดเข้าใจว่ากรธ.ฟังมาตลอด และนำไปคิดว่าอะไรที่ดีที่สุด จึงขอให้เข้าใจว่าคน 21 คน คิดได้แบบนี้อาจจะต่างจากคน 200 คนคิด แต่ว่าวันนี้แก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง” มีชัย กล่าว
ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ค.59) มติชนออนไลน์และโพสต์ทูเดย์ รายงานตรงกันว่า ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. กล่าวถึง กรณีที่ขณะนี้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึง มีชัย ว่าต้องการให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วไปแก้ในภายหลังว่า เป็นความเข้าใจผิด สื่อไปลงข่าวตีความผิด มีชัยไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น และไม่ใช่การชี้นำให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย เพียงต้องการจะบอกว่า การร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 279 มาตรานั้น กรธ.ทั้ง 21 คน ไม่สามารถเขียนให้ถูกใจคนทุกคนไม่ได้ แม้แต่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ตาม เราเขียนให้ถูกใจคนทุกกลุ่มไม่ได้ เพียงแต่ขณะนี้ถ้าจะให้มาปรับแก้อะไร เพื่อให้คนถูกใจอาจจะสายเกินไปแล้ว จึงจำเป็นที่ต้องให้เป็นเรื่องของวันข้างหน้าในอนาคต หากใครเห็นว่าประเด็นใด หรือ เรื่องไหนไม่ดี จะเปลี่ยนจะแก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่จะเห็นสมควร จะให้ประชาชนเห็นชอบในการแก้ไขก็ได้ ซึ่งเรื่องที่นายมีชัยพูดไปเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมดาของโลกที่คนร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถเขียนออกมาให้ถูกใจคนทั้งประเทศได้ ขอให้เข้าใจว่า กรธ.ไม่ได้มีเจตนาเช่นที่วิจารณ์กันออกมาแต่อย่างใด
"การนำคำพูดของประธานกรธ.ไปตีความในทางที่ผิด ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายประชามติ เพราะไม่ได้เป็นการชี้นำว่าให้ประชาชนไปลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เกรงอาจมีบางกลุ่มนำประเด็นนี้ไปสร้างความบิดเบือนในอนาคต"  ชาติชาย กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น