17 พ.ค.2559 จากเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบกับงบประมาณภาครัฐที่ต้องจ่ายสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิน 60 ปีขึ้นไป โดยในอนาคตจะมีการปรับการจ่ายสวัสดิการ หรือเงินเบี้ยคนชรารายเดือนที่ให้ผู้สูงอายุใหม่ โดยจะเลือกจ่ายให้กับผู้ที่จำเป็นและต้องการได้รับความช่วยเหลือจริง จากปัจจุบันจ่ายให้คนละ 600 บาทต่อเดือน โดย ในเบื้องต้นจะต้องกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาว่าหากผู้สูงอายุมีรายได้รวมเกิน 9,000 บาทต่อเดือน หรือสินทรัพย์เกิน 3 ล้านบาท จะไม่ได้รับสิทธิ์เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ลดภาระงบประมาณลงไปได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันรัฐต้องจ่ายถึง 6 - 7 หมื่นล้านบาท จากผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 10 ล้านคน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
โดยที่ต่อมา 15 พ.ค. 59 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิสุทธิ์ กล่าวว่า ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุได้รับสิทธิ์ประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะในอนาคตที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งจะทำให้มีภาระในส่วนนี้เพิ่มขึ้น เบื้องต้นผู้สูงอายุกลุ่มที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาทหรือมีสินทรัพย์สูงเกินกว่า 3 ล้านบาท จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนั้นเมื่อตัดงบประมาณส่วนนี้ไป คาดว่าจะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่เป็นภาระงบประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท
โดยรัฐจะเร่งทำการสำรวจเเละเก็บข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยต่อไป นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นเงินให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการใช้เงินในยามเกษียณซึ่งจะเหมาะกับคนไม่มีลูกหลาน
วิสุทธิ์ ระบุด้วยว่า หลักการเบื้องต้นคือ จะต้องมีทรัพย์สินปลอดภาระหนี้เพื่อนำมาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุมูลค่าทรัพย์สิน และอัตราดอกเบี้ยโดยจะเลือกได้ระหว่างได้เป็นก้อนเดียวหรือจะรับเป็นรายเดือน
วิสุทธิ์ ระบุด้วยว่า หลักการเบื้องต้นคือ จะต้องมีทรัพย์สินปลอดภาระหนี้เพื่อนำมาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุมูลค่าทรัพย์สิน และอัตราดอกเบี้ยโดยจะเลือกได้ระหว่างได้เป็นก้อนเดียวหรือจะรับเป็นรายเดือน
ประยุทธ์เชื่อตัดเบี้ยผู้สูงอายุมีฐานะคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่
จากประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม. ว่า เรื่องลดเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นการที่ต้องให้ไปดูว่าที่ศึกษามาลดเพราะอะไร บางคนมีรายได้เพียงพอแล้ว บางทีมากกว่าคนที่ทำงานรายวันอีก ถ้าเราไปกำหนดด้วยอายุอย่างเดียว อาจจะใช้งบประมาณไม่ตรงเท่าไหร่ จริง ๆ ผู้สูงอายุคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะเงินแค่ 600 - 1,000 บาท ถ้าทุกคนมีเงินฝาก 3 ล้านในบัญชี รายได้เดือนละ 9,000 บาท ถามว่าจนหรือไม่ ต้องดูอย่างนี้จะได้เหลือเงินไปทำตรงอื่น ทั้งเรื่องสังคมสูงอายุ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จะเอาเงินจากที่ไหนถ้าไม่ใช้ให้ถูกต้องทุกคนต้องช่วยกัน หลายคนบอกว่ามันเป็นสิทธิประชาธิปไตย แต่คำว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าเท่ากันได้ทุกคนมันต้องมีช่องว่างการที่ต้องปรับกันอย่างไร
รอง หน.ปชป.อัดแก้ไม่ถูกจุด
วันเดียวกัน (16 พ.ค.59) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า เกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรณีนี้ด้วยว่า ความหมายสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ แปลว่าทุกคนที่ชราภาพต้องได้ทั้งหมด ถ้าจะไปตัดเฉพาะบางคน บางกลุ่ม ตรงนี้ก็ไม่ถือเป็นนโยบายสวัสดิการสังคมแล้ว ตนอยากให้ไปดูที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องจัดสวัสดิการให้ประชาชน อยากให้รัฐบาลอธิบายหลักคิดก่อนว่าคืออะไร ทำไมทำแบบนี้ ต้องตีโจทย์ว่ายังต้องการให้เป็นสวัสดิการสังคมอยู่หรือไม่ หรือจะให้ไปเป็นนโยบายอะไรก็ไม่ทราบได้
“เกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น สงสัยว่าจะเป็นธรรมหรือไม่เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกปี ต้องถามว่าการวัดเกณฑ์ว่าใครรวย ใครจน จะวัดกันยังไง วัดกันทุกปีหรือไม่ และนับทรัพย์สินแต่ละครอบครัวไหม หรือว่านับแค่เฉพาะบุคคล การรัฐบาลให้เหตุผลว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ และงบประมาณที่มีอยู่ ดูจะไม่เพียงพอ ก็ต้องตั้งคำถามว่าภาษีที่ประชาชนจ่ายกันทุกปีทั้งภาษีทางอ้อม ทำไมถึงมีไม่เพียงพอ เอาเงินไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ เรื่องการใช้ภาษีต้องอธิบายให้ประชาชนทราบได้ทุกเรื่อง ประเทศอื่นที่เจอกับปัญหาสังคมผู้สูงวัย ก็มีวิธีแก้ปัญหามากมายและก็ไม่จำเป็น จะต้องตัดสวัสดิการออก อาทิ ที่ออสเตรเลียก็ไม่มีเกณฑ์เกษียณอายุ ใครอยากเกษียณเมื่อไรก็เกษียณได้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในเรื่องของทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท ถ้าเป็นที่ดินจะว่าอย่างไร เพราะตามหลักแล้วการมีที่ดินไม่ใช่ถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างเดียว แต่ยังถือว่าเป็นภาระด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นที่ดินที่มีภาระจะหักค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ ถ้าเป็นบริษัทนั้นเมื่อที่ดินเสื่อมราคายังสามารถตัดค่าใช้จ่ายได้ แต่เป็นบุคคลจะทำอย่างไรเมื่อมีที่ดินแล้วเสื่อมราคา นอกจากนี้คนรับบำเหน็จ บำนาญจะทำอย่างไร โดยเฉพาะกรณีว่าคนรับบำเหน็จไม่ถึง 3 ล้านบาท แต่รับบำนาญได้เงินเกิน 9,000 บาทต่อเดือนตรงนี้จะว่ายังไง
เกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อดูทั้งประเทศมีคนแจ้งทรัพย์สินกันกี่คน ก็มีแจ้งทรัพย์สินเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเท่านั้น ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ยื่นภาษีเลย ตามระบบในประเทศไทยก็ถือว่ามีเยอะมาก อาทิ กลุ่มเกษตรกร ตรงนี้จะนับกันยังไง ดังนั้นถ้าให้นโยบายนี้มีผลบังคับใช้ จะให้คนทั้งประเทศไปแจ้งทรัพย์สินหรือไม่ แบบนี้ก็ลำบากมาก การออกนโยบายนั้นพูดก็พูดได้ แต่ถ้าจะทำนั้นจะสร้างปัญหาและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมาอีกมาก ดังนั้นทางรัฐบาลต้องอธิบายและดำเนินการด้วยความระมัดระวัง แต่ตนขอค้านการใช้วิธีการนี้มาแก้ไขปัญหา เรื่องการขาดงบประมาณ เพราะเป็นการแก้ไม่ถูกจุด ยังมีวิธีการแก้ปัญหาอีกมาก เช่น เวลาจะสร้างถนนที่เก็บค่าผ่านทางได้ ก็ควรจะใช้ระบบสัมปทานจากภาคเอกชนแทนที่จะใช้เงินงบประมาณภาครัฐ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น