คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ร่วมกับอีก 2 องค์กรนักกฎหมาย ทำหนังสือร้องสภาทนายความฯ คุ้มครอง ทนายศิริกาญจน์ และทนายเบญจรัตน์ หลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องกลับ และขอรัฐบาลไม่แทรกเเซงกับความเป็นอิสระของวิชาชีพทนายความ
6 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists), องค์การลอว์เยอร์ไรทส์วอทแคนาดา (Lawyers’ Rights Watch Canada) และมูลนิธิลอว์เยอร์สฟอร์ลอว์เยอร์ส (Lawyers for Lawyers) ได้ทําหนังสือถึง เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับสองคดีล่าสุดที่มีการข่มขู่เเละการคุกคามต่อทนายความที่ทํางานเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยขอร้องให้สภาทนายความฯ ซึ่งทําหน้าที่เป็นองค์กร หลักรับผิดชอบในการคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกได้ออกมาร้องเรียกให้รัฐบาลไทยรักษาไว้ซึ่งความเคารพหลักความเป็นอิสระของทนายความและประกันว่าทนายความจะสามารถทําหน้าที่ของวิชาชีพได้โดยปราศจากความกลัวที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐดําเนินการตอบโต้กลับ
โดยองค์กรดังกล่าวได้ ชี้ให้เห็นว่ามีคดีดังต่อไปนี้เกิดขึ้นกับสมาชิกวิชาชีพกฎหมาย
กรณีของ ‘ศิริกาญจน์ เจริญศิริ’
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นทนายความที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนให้กับ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อ สิทธิมนุษยชน’ โดยทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับบุคคลต่าง ๆ มากมาย รวมถึงนักกิจกรรมเเละ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 ศิริกาญจน์ ได้รับหมายเรียกจำนวนสองฉบับให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจชนะสงครามในวันที่ 9 ก.พ. 2559 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญา ได้แก่ “ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา” และ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน”
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2558 ที่ ศิริกาญจน์ ปฎิเสธไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นรถยนต์ของเธอเพื่อหาสิ่งของของลูกความของเธอเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐาน (ลูกความของเธอคือ14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ภายหลังจากที่ได้ทำการประท้วงโดยสงบ) ข้อหาที่ตั้งต่อ ศิริกาญจน์ ดูเหมือนว่าจะเป็นการโต้กลับกับการที่เธอได้เข้าแจ้งความกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดรถยนต์ของ ศิริกาญจน์ รวมถึงหลักฐานที่อยู่ในรถคันดังกล่าว ท้ายที่สุด ศิริกาญจน์ ถูกตั้งข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน (มาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา) และซ่อนเร้นพยานหลักฐาน (มาตรา142 ประมวลกฎหมายอาญา) ปัจจุบันคดีของ ศิริกาญจน์ อยู่ระหว่างการสอบสวนและรอการสั่งฟ้องอย่างเป็นทางการ ล่าสุด ศิริกาญจน์ ได้รับหมายเรียกให้ไปพบพนักงานอัยการในวันที่ 12 พ.ค. 2559 ที่จะถึงนี้
กรณีของ ‘เบญจรัตน์ มีเทียน’
เบญจรัตน์ มีเทียน เป็นทนายความที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายที่ทำคดีสำคัญ ได้แก่ ‘คดีขอนแก่นโมเดล’ และ ‘คดี Bike for Dad’ โดยทั้งสองคดีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการตั้งข้อหาเชื่อมโยงกับความมั่นคงภายในประเทศ ในส่วนของคดีขอนแก่นโมเดลนั้นเกี่ยวกับจำเลย 26 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวระหว่างการประชุมในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นและถูกฟ้องในคดีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, ความผิดฐานเป็นซ่องโจร, ความผิดฐานครอบครองอาวุธ, เเละความผิดฐานร่วมกันตระเตรียมก่อการร้าย ส่วนคดี Bike for Dad เป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 9 รายถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เเละมาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยถูกกล่าวหาว่ามีการสื่อสารกันผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดียเพื่อวางแผนสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนในงาน Bike for Dad และเตรียมประทุษร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง 2 ราย
เบญจรัตน์ มีเทียน
ปัจจุบัน เบญจรัตน์ ถูกเเจ้งความดำเนินคดีอาญาโดยพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัว หน้าส่วนปฏิบัติ การคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. จะเห็นได้ว่าการเเจ้งความดังกล่าวเป็นการโต้ตอบกับการเข้ามาทำ คดีการเมืองของ เบญจรัตน์ โดยเกี่ยวข้องกับ ‘ธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ซึ่ง เป็นลูก ความคนหนึ่งของ เบญจรัตน์ และเป็นหนึ่งในจำเลยคดีขอนแก่นโมเดลแต่ภายหลัง ได้มีการกล่าวหาว่าเข้าไปพวั พนั กับคดี Bike for Dad ด้วย ถึงแม้ว่าขณะนั้น ธนกฤตจะอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นก็ตาม อย่างไรก็ดี วันที่ 29 พ.ย.2558 เบญจรัตน์ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับพล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยกล่าวหาว่า กระทำผิดละเว้นการปฏิบัตืหน้าที่, แจ้งความเท็จ และทำพยานหลกั ฐานเท็จ ต่อมาวันที่ 8 ธ.ค. 2558 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้แจ้งความดำเนินคดีกลับเพื่อตอบโต้ เบญจรัตน์ฯในความผิดฐานหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความอั เป็นเท็จ จากนั้น วันที่ 15 ธ.ค. 2558 เบญจรัตน์ ได้ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อศาลอาญา กล่าวหาพล.ต.วิจารณ์ จดแตงและพ.ต.อ.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเและข้อหาแจ้งข้อความเท็จ กระทั่ง เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2559 เบญจรัตน์ ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับ การปราบปราม เขตจตจุักร ในข้อหา "ให้ข้อมูลอัน เป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา” (มาตรา 172, 173, 174 และ 181 ประมวลกฎหมายอาญา) และความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา) ปัจจุบัน คดีของ เบญจรัตน์ อยู่ในระหว่างการสอบสวนและรอการสั่งฟ้องอยา่งเป็นทางการ
การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมเเละสวัสดิการของสมาชิกสภาทนายความฯ
หากพิเคราะห์เเล้วจะพบว่าคดีดังที่กล่าวทำให้เข้าใจว่าทนายความที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางกฎหมายในคดีที่เรียกว่า ‘คดีการเมือง’ นั้นอาจจะถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเเละเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ ได้ ส่งผลให้ความสามารถของทนายความในประเทศไทยที่จะทำหน้าที่ทางวิชาชีพของตนโดยปราศจากความกลัวการตอบโต้ของรัฐนั้นลดน้อยถอยไป
หลักพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศวางหลักการว่าทนายความต้องสามารถที่จะเป็นตัวเเทนของลูกความได้โดยปราศจากความกลัวที่จะถูกโต้กลับ ถูกแทรกแซงการทำหน้าที่ หรือถูกคุกคาม โดยข้อ 16 แห่งหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (‘หลักการพื้นฐาน’) (Basic Principles on the Role of Lawyers) บัญญัติว่า “รัฐบาลพึงดำเนินการให้เป็นที่มั่นใจได้ว่าทนายความ…สามารถทำหน้าที่ตามวิชาชีพได้ทั้งหมด โดยปราศจากการข่มขู่, การขัดขวาง, การคุกคาม หรือการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสม”[1] หลักการพื้นฐานดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับหลักนิติศาสตร์สากลตลอดมาเพื่อใช้สนับสนุนสิทธิที่จะได้เข้าถึงการพิจารณาคดี ที่เป็นธรรม (Right to a fair trial) ตามที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี[2] นอกจากนี้ หลักการดังกล่าวยังได้รับรองว่าทนายความ “จักต้องไม่ถูกระบุว่าเป็นฝ่ายเดียวกันกับลูกความหรือมีกรณีที่ลูกความเป็นเหตุให้เกิดการเลิกปฏิบัติหน้าที่” แท้จริงเเล้ว ทนายความต้องสามารถทำหน้าที่โดยอิสระ อย่างขยันขันแข็ง และโดยปราศจากความกลัว อันจะเป็นการสอดคล้องกับความปรารถนาของลูกความ[3]
สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่แทนทนายความทั้งหลายนั้นมีอาณัติที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ ทำหน้าที่ส่งเสริมความเป็นเอกภาพและการยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมของสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนและจัดการเรื่องสวัสดิการของสมาชิก ทั้งนี้ ข้อที่ 25 ของหลักการพื้นฐานฯเรียกร้องให้มีการรวมตัวของสมาคมวิชาชีพ เช่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อทำงานกับรัฐบาลในการประกันว่า“ทนายความสามารถให้คำปรึกษาเเละให้ความช่วยเหลือลูกความ โดยปราศจากการเข้าเเทรกเเซงโดยไม่เหมาะสม ทั้งนี้ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเเละมาตรฐานด้านวิชาชีพเเละจริยธรรม”
ทั้ง 3 องค์กร ระบุว่า ขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ สภาทนายความฯ ดำเนินการคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกโดยสอบสวนคดีที่ได้กล่าวมาข้างต้นตามสมควร รวมถึงร้องขอให้รัฐบาลไม่เข้ามาแทรกเเซงกับความเป็นอิสระของวิชาชีพทนายความ กล่าวคือทนายความต้องสามารถทำงานโดยปราศจากซึ่งความหวาดกลัวจากการที่ จะถูกตอบโต้กลับและสอดรับกับหลักนิติธรรม ทั้ง 3 องค์กรยังระบุต่อว่า พร้อมที่จะพูดคุยกับสภาทนายความฯ เพื่อหารือรายละเอียดของคดีความของทนายความตามที่ได้กล่าวมาเเละยินดียิ่งหากจะได้มีโอกาสได้พบกับท่าน
ข้อมูลพื้นฐานของทั้ง 3 องค์กร
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลหรือ ICJ (International Commission of Jurists) ประกอบไปด้วย ผู้พิพากษาเเละนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จกว่า 60 ท่านจากทั่วทวีปในโลก ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านหลักการนิติธรรม โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายเพื่อพัฒนาเเละเสริมความเข้มเเข็งของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในระดับภายในประเทศเเละระดับสากล โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อค.ศ.1952 และได้รับสถานะที่ปรึกษา (Consultative status) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council) ตั้งแต่ ค.ศ.1957 โดยทำงานใน 5 ทวีปทั่วโลก ทั้งนี้ ICJ มุ่งหมายที่จะประกันพัฒนาการที่ก้าวหน้าเเละ การนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ, การประกันความตระหนักรู้เรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางสังคม, การพิทักษ์การแบ่งแยกของอำนาจเเละการประกันซึ่งความเป็นอิสระของผู้พิพากษารวมถึง นักกฎหมาย
องค์การลอว์เยอร์ไรทส์วอทแคนาดา (Lawyers’ Rights Watch Canada - LRWC) ประกอบด้วยคณะกรรมการนักกฎหมายชาวแคนาดาที่ทำงานส่งเสริมหลัก สิทธิมนุษยชนเเละหลักนิติธรรม โดยทำการสนับสนุนในระดับสากลให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เผชิญอันตราย LRWCทำหน้าที่ส่งเสริมการปฏิบัติเเละบังคับใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่คุ้มครองความเป็นอิสระเเละ ความปลอดภัยของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก นอกจากนี้ LRWC ยังทำงานรณรงค์เพื่อนักกฎหมายเเละ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่สิทธิ เสรีภาพ หรือ ความเป็นอิสระของพวกเขาถูกคุกคามอันเป็นผลมาจากการทำงานนโยบาย
มูลนิธิลอว์เยอร์สฟอร์ลอว์เยอร์ส (Lawyers for Lawyers) เป็นมูลนิธิที่เป็นอิสระเเละไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศเนเธอร์เเลนด์ ทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพของหลักนิติธรรม โดยยึดหลักเสรีภาพเเละความเป็นอิสระของวิชาชีพกฎหมาย
[1] หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดครั้งที่ 8 (Eighth United Nations Congress on the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders (ค.ศ.1990)
[2] ตัวอย่าง เอกสารของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ‘Concluding Observations: Russian Federation’, UN Doc CCPR/C/RUS/CO/6 (2009), ย่อหน้าที่ 22 และเอกสารของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ‘Concluding Observations: Libyan Arab Jamahiriya’, UN Doc CCPR/C/79/Add 101 (1998), ย่อหน้าที่ 14
[3] ร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยความเป็นอิสระของความยุติธรรม (Draft Universal Declaration on the Independence of Justice) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่าปฏิญญาสิงห์วี (Singhvi Declaration) ซึ่งเป็นรากฐานของ หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของตุลาการและว่าด้วยบทบาทของทนายความ (UN Basic Principles on the Independence of the Judiciary) ย่อหน้าที่ 83
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น