วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

EU เยี่ยม กต. สนช .กรธ. ปชป. รวมทั้งเพื่อไทย หารือประเด็นสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนเข้าเยี่ยมรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สนช. กรธ. พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยหารือประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทย
17 พ.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วาเนอร์ แลนเกน (Warner Langen) สมาชิกสภายุโรป (อียู) ซึ่งเป็นประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของอียู ได้นำสมาชิกสภาอียู รวม 8 คน เข้าพบ ปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รักษาการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค. 2559 โดยมีกำหนดการพบปะทุกภาคส่วน อาทิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน
เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ  โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการพบปะหารือว่า กลุ่มสมาชิกสภาอียู เลือกเยือนประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – อียู แสดงให้เห็นว่าไทยกับอียูยังมีปฏิสัมพันธ์กันปกติ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศคู่การค้าของอียูเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน และมีนักท่องเที่ยวจากประเทศในอียูเดินทางมาไทย  5  ล้านคนต่อปี สำหรับการพบปะหารือครอบคลุมในหลายมิติ และภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-อียู และอาเซียน-อียู เพื่อยกระดับความร่วมมือเป็นแบบยุทธศาสตร์ โดยจะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – อียู ในเดือนตุลาคมนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการพบปะครั้งนี้ อียูได้รับทราบพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของไทย อาทิ การดำเนินการปัญหาประมงผิดกฎหมายของไทย โดยกระทรวง ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยต่อการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยู และได้แจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าล่าสุด ตามที่รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับประมง การตรวจเรือ การลงทะเบียน เพื่อออกเอกสารประจำเรือ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสถานการณ์และสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดย อียูได้เล่าว่า อียูกำลังเผชิญกับกลุ่มผู้อพยพ และเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งภัยก่อการร้ายระหว่างประเทศ
เสข กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ สมาชิกสภาอียูได้พบกับ สนช. และกรธ. ซึ่งได้หารือถึงภาพรวมสถานการณ์การเมืองไทย โดยอียู ย้ำว่า การเยือนครั้งนี้ตระหนักถึงพัฒนาการของประเทศไทย พร้อมกับย้ำถึงข้อมติของอียูต่อไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ว่า ประเทศไทยยังเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนของอียู เชื่อว่า ระหว่างนี้ไทยกำลังเตรียมการเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง
ต่อข้อถามว่า ทางอียูได้สอบถามประเด็นเรื่องนำประชาชนขึ้นศาลทหารหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่ได้คุยรายละเอียดเรื่องนี้ อียูได้แจ้งท่าทีเดิมและหลักการค่านิยมของอียู โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันในการพบปะกันว่า ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งปี 2560 ตามโรดแมปที่ได้ประกาศไว้ ต่อข้อถามว่า สมาชิกสภาอียูห่วงกังวลเรื่องใช้มาตรา 44 หรือไม่ นายเสข กล่าวว่า ในการหารือไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องนี้ เมื่อถามถึงได้มีการพูดถึงถึงกระบวนการยูพีอาร์ ที่เจนีวา หรือไม่ นายเสข กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งให้สมาชิกสภาอียูทราบว่า รัฐสมาชิกยูพีอาร์ได้ชื่นชมไทยเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศมีความคืบหน้า และไทยก็รับข้อเสนอแนะของรัฐสมาชิกยูพีอาร์ที่มีต่อไทยทันที 181 ข้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ทันที และจะมีการรายงานความคืบหน้าตามไปภายหลังด้วย

พบ 'ยิ่งลักษณ์-แกนนำเพื่อไทย' หารือประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทย

ขณะที่เฟซบุ๊กแฟนเพจพรรคเพื่อไทยได้โพสต์ภาพและรายงานด้วยว่า  วันนี้ เมื่อเวลา 15.00น. คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป นำโดย เวอร์เนอร์ ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน พร้อมด้วย มาร์ค ทาราเบลล่า รองประธาน และ เพียร์ อันโตนิโอ แปนซีรี คณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน เข้าพบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย

เยี่ยมประชาธิปัตย์ด้วย

ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Abhisit Vejjajiva' ด้วยว่า สมาชิกสภายุโรป เข้าเยี่ยมคารวะ ที่พรรคประชาธิปัตย์  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น