วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กกต. สั่งทีวี-วิทยุทุกสถานี พีอาร์ร่างรธน. 13 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เริ่ม 27 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กําหนดจํานวนครั้งของการจัดสรรเวลาและห้วงการจัดสรรเวลาออกอากาศ เพื่อการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2559 ออกโดย ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 9 มาตรา 12 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ข้อ 4 และข้อ 18 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ร่างรัฐธรรมนูญ คําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเพิ่มเติม คําอธิบายหลักการ และเหตุผลของประเด็นเพิ่มเติม กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงและการจัดสรรเวลาออกอากาศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2559 ประกอบความเห็นของที่ประชุมร่วม ระหว่างผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้แทนโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) และผู้แทนสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 การประชุมผู้แทน สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 มติคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 24/2559 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ครั้งที่ 26/2559 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 และครั้งที่ 28/2559 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 คณะกรรมการ การเลือกตั้งจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนครั้ง ของการจัดสรรเวลาและห้วงการจัดสรรเวลาออกอากาศเพื่อการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2559”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “สถานี” หมายความว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ “สถานีอื่น” หมายความว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่มิใช่ของรัฐ และให้รวมถึงวิทยุชุมชนและสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบเคเบิลทีวีด้วย
ข้อ 4 กําหนดจํานวนครั้งในการออกอากาศ 13 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ดังนี้ (1) ออกอากาศครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2559 (2) ออกอากาศครั้งที่ 2 วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2559 (3) ออกอากาศครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2559 (4) ออกอากาศครั้งที่ 4 วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2559 (5) ออกอากาศครั้งที่ 5 วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2559 (6) ออกอากาศครั้งที่ 6 วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2559 (7) ออกอากาศครั้งที่ 7 วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2559 (8) ออกอากาศครั้งที่ 8 วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2559 (9) ออกอากาศครั้งที่ 9 วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2559 (10) ออกอากาศครั้งที่ 10 วันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 (11) ออกอากาศครั้งที่ 11 วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2559 (12) ออกอากาศครั้งที่ 12 วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2559 (13) ออกอากาศครั้งที่ 13 วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2559
ข้อ 5 การจัดสรรเวลาออกอากาศ ตามข้อ 4 ให้สถานีจัดสรรเวลาออกอากาศในเวลา 17.30 - 18.00 น. พร้อมกันทุกสถานี ในกรณีสถานีอื่นอาจออกอากาศในเวลา 17.30 - 18.00 น. หรือในช่วงระหว่างเวลา 18.30 - 24.00 น. ของวันที่ออกอากาศ หรือในช่วงระหว่างเวลา 06.00 - 24.00 น. ของวันถัดจาก วันออกอากาศ หรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ตามที่สถานีอื่นเห็นว่าเหมาะสม
ข้อ 6 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามประกาศนี้

เพื่อไทยยื่น กกต.ขอทำใบปลิวหมื่นแผ่นช่วยรณรงค์ประชามตินอกเขต

ขณะทีเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ทีผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิชาญ มีนชัยนันท์ พร้อมด้วยจิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. ผ่าน พลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักเลขานุการ กกต. เพื่อขอให้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่จะหมดเขตในวันที่ 30 มิ.ย.นี้
     
โดยนายวิชาญกล่าวว่า เหลือเวลาอีกเพียง 10 วันอาจไม่เพียงพอในการรณรงค์ เนื่องจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส.กทม.ต่างได้รับการสอบถามจากประชาชนที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นจำนวนมาก และส่วนตัวก็เห็นว่าปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีประชากรแฝงที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงจากจังหวัดต่างๆ จำนวนกว่า 10 ล้านคน แต่จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดในขณะนี้มีเพียงแค่หลักพันคนเท่านั้น จึงน่าเป็นห่วง และเห็นว่า กกต.และรัฐบาลควรมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เช่น การติดป้ายเพื่อแจ้งให้ทราบ หรือแม้แต่ให้สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ทำอักษรวิ่งเพื่อให้เข้าถึงประชาชน รวมทั้งขอให้ไปอำนวยความสะดวกด้วยการให้สำนักงานเขตไปตั้งโต๊ะลงทะเบียนในจุดที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น นิคมอุตสาหกรรม
     
“ส่วนตัวเห็นว่าการใช้สิทธินอกเขตจังหวัดเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนที่เข้ามาทำงานจะได้ไม่ต้องเสียค่าเดินทางในการกลับไปใช้สิทธิในภูมิลำเนา ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงขออนุญาตที่จะจัดทำแผ่นประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดตามรูปแบบของ กกต.จำนวน 10,000 แผ่น เพื่อแจกเป็นการช่วยรณรงค์ให้กับ กกต.อีกทางหนึ่ง” วิชาญกล่าว

กกต.ขอบคุณ เพื่อไทย ช่วยรณรงค์       

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงกรณีที่นี้ว่า ทางกกต.กำลังเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่ เนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน ก็จะหมดเขตให้ลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด ขณะนี้กกต.ได้ส่งหนังสือไปยังหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสภานายจ้าง ให้ช่วยอำนวยความสะดวกกับลูกจ้างที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ในการลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต เพียงแค่นายจ้างให้ใช้อินเตอร์เน็ตก็สามารถลงทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนที่ส.ส.เพื่อไทยจะแจกใบปลิวเรื่องดังกล่าวนั้นก็ทำได้ ต้องขอบคุณส.ส.เพื่อไทย เพราะถือว่ามาช่วยกกต.ในการรณรงค์
ล่าสุดวันนี้ (22 มิ.ย.59) ยอดผู้มาลงทะเบียน  ขอใช้สิทธิออกเสียงประชามติ นอกเขตจังหวัด มีเพียง รวม 49,403 ราย โดยแบ่งเป็น ยื่นผ่าน สนท.อำเภอ/เขต/ท้องถิ่น 25,489 ราย และ ยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ต 23,914 ราย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น