วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ไอลอว์ยัน ม.61 พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดหลักเสรีภาพ ขอทุกฝ่ายใจกว้างเปิดรณรงค์ได้


โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ยืนยัน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ขัดหลักเสรีภาพ ขอทุกฝ่ายเปิดให้ประชาชนรณรงค์ได้
29 มิ.ย.2559  จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาในวรรคสองมีการบัญญัติคำว่า "รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย" นั้น มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยดุลพินิจของตัวเอง จนทำให้กระทบสิทธิของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ส่วนข้อความในมาตรา 61 วรรคสาม และวรรคสี่ นั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา โดยคำร้องดังกล่าวเป็นของ จอน อึ๊งภากรณ์  ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
โดยวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ม.61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ม.4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ล่าสุด ไอลอว์ ออกคำชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนี้เรายังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ในประเด็นนี้ เราทราบเพียงผลคำวินิจฉัยจากข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 
ไอลอว์ขอยืนยันตามที่ได้ยื่นคำร้องไปแล้วว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติห้ามการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีนั้น เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักเสรีภาพการแสดงออกซึ่งเป็นหลักการที่อยู่คู่กับการเมืองการปกครองไทยมาทุกยุคสมัยและเป็นหลักการพื้นฐานที่มนุษยชาติยอมรับกันโดยทั่วไป 
 
การที่มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่น คำว่า "รุนแรง" "ก้าวร้าว" "ปลุกระดม" ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอน ส่วนการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ "หยาบคาย" นั้น ตามปกติแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ต้องมีโทษทางกฎหมาย ขณะที่บทกำหนดโทษของความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง ก็เป็นโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้น เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท หรือฐานทำให้หญิงแท้งลูกและถึงแก่ความตาย การบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองเช่นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร
 
ไอลอว์ เห็นว่า บรรยากาศการพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติทุกวันนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงาผิดปกติ ทั้งที่ใกล้ถึงเวลาลงประชามติแล้ว โดยที่ประชาชนที่มีความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห้นด้วยต่างไม่กล้าแสดงออก ถกเถียง หรือทำกิจกรรม ดังที่มีตัวอย่าง การจับกุมดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แจกเอกสารแสดงเหตุผลไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และมีผู้ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 7 คนในปัจจุบัน บรรยากาศเช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และมีแต่จะทำให้ผลการลงประชามติไม่เป็นที่ยอมรับทั้งโดยประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก
 
ไอลอว์ ไม่มีความประสงค์จะสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในการทำประชามติ และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่ความรุนแรง แต่เรายืนยันที่จะทำกิจกรรมทางสังคมและใช้ช่องทางตามกฎหมายทุกวิถีทางที่มีอยู่ต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการจัดทำประชามติได้อย่างเสรี เพื่อให้การจัดทำประชามติที่จะเกิดขึ้นสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง
 
ในระหว่างที่พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ยังไม่ถูกยกเลิกโดยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นไปได้ที่บรรยากาศการทำประชามติจะดีขึ้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง คสช. และ กกต. เปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและทำกิจกรรมรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม ยกเลิกการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบ เลิกจับกุมประชาชนจากการแสดงความคิดเห็น ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังและยุติการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น