วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รอง หน.ประชาธิปัตย์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย-เขียนเพราะกลัวเพื่อไทยตั้งรัฐบาล



Tue, 2016-06-28 15:26


        เวทีสาธารณะเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ตำหนิร่าง รธน. แบบกลัวเสียงข้างมาก กลัวเพื่อไทยเป็นรัฐบาล รับไม่ได้ให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ด้านสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ระบุ รธน. ออกแบบสวนทางสากล มุ่งให้รัฐบาลอยู่ภายใต้การควบคุม ทำอะไรไม่ได้มากเพราะออกแบบไว้หมดแล้ว ส่วน ปกรณ์ อารีกุล ชี้ห้ามรณรงค์ก่อนประชามติเท่ากับปิดกั้นตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วน 'ไผ่ ดาวดิน' ถูกตำรวจยึดลูกโป่งหน้าเรือนจำ


     เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 59) ที่ห้องประชุม 109 อาคารปัญญาพิพัฒน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีการจัดเวทีถกแถลงสาธารณะ "ร่างรัฐธรรมนูญกำกับรัฐบาลไว้อย่างไร"


รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ฟันธงร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้เพราะกลัวเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
         นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยความกลัวเสียงข้างมาก เนื่องจากมีความพยายามจัดวางโครงสร้างในรัฐธรรมนูญเพื่อกำกับควบคุมรัฐบาล และประกอบกับคำถามพวงประชามติที่มีเจตนาให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีส่วนร่วมในการเลือกคนที่จะมาเป็นรัฐบาล

        "ในระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่เราปกครองด้วยเสียงข้างมาก แต่ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ร่างมาด้วยความกลัวเสียงข้างมาก พูดง่ายๆ คือกลัวพรรคเพือไทยจะเป็นรัฐบาล เขาคิดว่าถ้าเพือไทยกลับมาจะทำอย่างไร เพื่อจะควบคุมเสียงข้างมาก เขามีเจตนาชัดเจนในคำถามพวง ที่เสนอให้ ส.ว. เข้ามามีส่วนในการเลือกคนที่จะมาเป็นรัฐบาล ผมสนับสนุนทุกพรรคที่ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการที่ให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ผมรับเรื่องนี้ไม่ได้" นิพิฏฐ์ กล่าว



สุดารัตน์ ชี้ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ - รัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะออกแบบไว้หมด


            สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า "ต้องยอมรับว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญที่เคยเกิดขึ้น เพราะต่างจากหลักรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล โดยมีเป้าหมายในการจัดการกับนักการเมืองอย่างชัดเจน อาจจะมองได้ว่าเป็นการควบคุมนักการเมือง แต่กลับเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ดิฉันไม่ได้ห่วงว่าพรรคไหนจะได้ที่นั่งมาก น้อย แต่เป็นห่วงว่าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร"

           สุดารัตน์ ระบุด้วยว่า ด้วยโครงสร้างอำนาจการเมืองที่ออกแบบไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งจะไม่ต่างจากเป็ดง่อย เพราะไม่สามารถทำอะไรได้มาก เนื่องจากมีการออกแบบการทำงานของรัฐบาลไว้แล้วทั้งหมดผ่านยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งยังมีกลไกต่างๆ เข้ามาควบคุม เช่น ส.ว. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน

           "อีก 20 ปีข้างหน้าเราอาจจะไม่ต้องเสี่ยงกับการรัฐประหารอีกครั้ง เพราะถูกอย่างถูกรับรองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ" สุดารัตน์ กล่าว

           นอกจากนี้ ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ได้เข้าร่วมเสวนาด้วย โดยแสดงความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการกำกับและควบคุมการทำงานของรัฐบาล โดยไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชน และไม่เข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ เมื่อมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงหลัง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในขบวนการประชาธิปไตยใหม่

          กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้ยึดติดอยู่กับพรรคการเมือง นักศึกษานักกิจกรรมที่อยู่ในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ทำงาน ไม่ได้ของการตรวจสอบ และเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นพรรคใด แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการปิดกั้นโอกาส และตัดขาดการมีส่วนร่วม ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยประชาชน เพราะกลไกอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนค่อยตรวจสอบอย่างแน่นหนา ซึ่งนั้นอาจไม่ต้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

          ปกรณ์ กล่าวด้วยว่า แม้กระทั่งการรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติในตอนนี้ ผู้มีอำนาจยังได้อ้างว่าเป็นการฝ่าผืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และที่สุดแล้วทำให้มีเพื่อนในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ติดคุกทั้งหมด 7 คน

          "ทั้ง 7 คนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 5 คน นักศึกษาปริญญาโทธรรมศาสตร์ 1 คน และนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 คน คำถามที่เราต้องถามคือ ขณะที่สังคม และสื่อมวลชนหลายสำนักกำลังทำข่าว การลงประชามติที่ประเทศอังกฤษ แต่ประเทศไทยเด็ก 7 คนแค่แจกความเห็นแย้งกลับติดคุก ผมออกจากบ้านเมื่อเช้ายังคิดว่านี้เป็นความฝันอยู่เลย" แมน ปกรณ์ กล่าว

          ปกรณ์ได้แจกเอกสารความเห็นร่างรัฐธรรมนูญให้กับผู้เข้าร่วมเวทีถกแถลงทุกคน โดยระบุด้วยว่า ครั้งนี้ตัวเขาเองมาแจกคนเดียว เจ้าหน้าที่รัฐจะมาอ้างว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองไม่ได้ ส่วนเรื่องผิด พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ เป็นเรื่องที่ กกต. ต้องตีความ



ไผ่ ดาวดิน ถูกตำรวจสกัดห้ามปล่อยลูกโป่งหน้าเรือนจำ


          มีรายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 12.15 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขณะที่ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กำลังเดินเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อเข้าเยี่ยมเพื่อนทั้ง 7 คนที่ถูกคุมขังหลังจากแจกเอกสารรณรงค์โหวตโน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ จาก สน.ประชาชื่น 2 นาย เข้ามาพยายามแย่งลูกโป่ง "รณรงค์ ไม่ผิด" 7 ใบ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับ จัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่งหน้าเรือนจำในช่วงบ่ายวันนี้

         จตุภัทร์ ได้ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่ได้เข้ามาล็อกแขนทั้งสองข้าง และพยายามแย่งลูกโป่งไป จนทำลูกโป่งหลุดมือ และลอยขึ้นฟ้าไป โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้เหตุผลว่า ห้ามไม่ให้มีการแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ หน้าเรือนจำ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ได้ควบคุมตัว จตุภัทร์ แต่อย่างใด


ประชาธิปไตยใหม่รณรงค์ต่อเนื่องช่วงเย็นที่แยกคอกวัว รำลึกวันกำเนิดรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน



         นอกจากนี้เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ อนุสรณ์ 14 ตุลา แยกคอกวัว ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้จัดงาน ดนตรี กวี เรื่องเล่า "2 ร่าง 2 ปี เอา D ไม่ได้" รำลึก 27 มิถุนายน วันกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยในเวทีมีกำหนดการกิจกรรมมากมาย โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมอาทิ วงสามัญชน วงกำปั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี สมบัติ บุญงามอนงค์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา บทกวีจาก และตัวแทนสหภาพแรงงานที่ถูกควบคุมตัว

         ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ระบุว่า การจัดกิจกรรมนี้ถูกวางไว้ก่อนหน้าที่เพื่อนทั้ง 7 คนจะถูกคุมขัง โดยกลุ่มเพื่อนที่ยังอยู่ข้างนอกได้ถามเพื่อนที่ถูกจับกุมว่า จะให้มีการจัดกิจกรรมต่อไปหรือไม่ ซึ่งคำตอบได้ปรากฏให้เห็นแล้ว โดยในกิจกรรม จุตภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน มาบอกเล่าเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมด้วย

        ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ามีประชาชนเข้ากิจกรรมครั้งนี้ราว 100 คน และมีเจ้าหน้าที่ยูเอ็นมาสังเกตุการณ์ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น