หลังถูกคุมขังมา 5 ปีในแดน 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ เข้มงวดขึ้นมากหลังการรัฐประหาร 2557 สมยศตัดสินในร่างหนังสือร้องเรียนกรรมการสิทธิ เรื่อง การยึดที่นอนผู้ต้องขัง, การไม่อนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์รับข่าวสารใดๆ , การจำกัดการฝากเงินของญาติ ทำให้ญาติต่างจังหวัดและต่างประเทศลำบาก
16 มิ.ย.2559 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีการยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยสุวรรณา ตาลเหล็ก เป็นผู้ยื่นหนังสือแทน สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นคนร่างเนื้อหาในหนังสือฉบับนี้ คดีของเขาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและถูกคุมขังอยู่ในแดน 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2554 เป็นต้นมาเป็นเวลา 5 ปีแล้วที่เขาถูกควบคุมตัว สภาพโดยทั่วไปในเรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังตามอัตภาพ แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2559 เป็นต้นมา กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบและคำสั่งหลายด้านที่ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของนักโทษตกต่ำลง ส่งผลต่อการดำรงชีวิตปกติของผู้ต้องขัง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อความเสียหายด้านเศรษฐกิจของผู้ต้องขังและสูญเสียงบประมาณของรัฐ โดยมีประเด็นที่ร้องเรียนแก่กรรมการสิทธิมนุษยชน ดังต่อไปนี้
1. การยึดที่นอนของผู้ต้องขัง ตั้งแต่วันที่ 6-8 มิ.ย.2559 เจ้าหน้ากรมราชทัณฑ์ได้ทำการยึดที่นอน หมอนหนุนศีรษะ ผ้าห่ม ซึ่งผู้ต้องขังซื้อจากเรือนจำ โดยเอาชุดเครื่องนอนดังกล่าวไปทิ้งทำลาย ในขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์ออกคำสั่งเพิ่มเติมให้ผู้ต้องขังแต่ละคนมีเครื่องนอนได้เฉพาะผ้าห่มที่ทางเรือนจำแจกให้ 3 ผืนซึ่งเป็นผ้าห่มคุณภาพต่ำ การกระทำนี้ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง ซึ่งมีทั้งคนป่วย คนชรา
2. การจำกัดข้อมูลไม่ให้ผู้ต้องขังรับรู้ข่าวสาร แต่เดิมเรือนจำเคยมีบริการหนังสือพิมพ์ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงข่าวสารสาธารณะและบริการสารสนเทศ แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังอ่านหนังสือพิมพ์ และไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังสั่งซื้อหนังสือได้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ญาติผู้ต้องขังนำส่งหนังสือให้ได้เดือนละ 3 เล่มเท่านั้น และจำกัดประเภทหนังสือหรือนิตยสาร
3. การจำกัดวงเงินและจำนวนครั้งของญาติที่ต้องการฝากเงินให้ผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังมีเงินในบัญชีสำหรับซื้อสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวได้ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท และญาติฝากเงินให้ได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง สร้างความลำบากกับผู้ต้องที่มีญาติอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ไม่สามารถฝากเงินให้ล่วงหน้าได้
สุวรรณา กล่าวว่า เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมสมยศและพูดคุยกันจึงได้รับทราบเรื่องร้อนใจที่เกิด การเปลี่ยนแปลงระเบียบจำนวนมากสร้างความอึกอัดใจให้แก่ผู้ถูกขุมขังจำนวนไม่น้อย กรณีที่นอนผู้ต้องขัง โดยปกติผู้ต้องขังใช้เงินส่วนตัวซื้อที่นอนที่เรือนจำขายราคาประมาณ 900-1,000 บาทซึ่งเป็นที่นอนคุณภาพดีขึ้นมาหน่อย การยึดไปสร้างความกดดันอย่างมาก กรณีการจำกัดการอ่านหนังสือนั้น เกิดมาตรการนี้อย่างชัดเจนหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์และจำกัดประเภทหนังสือเพื่อไม่ให้รับรู้ข้อมูลทางการเมือง
“ถ้านักโทษต้องถูกจองจำในนั้น 3 ปี 5 ปี ถ้าหากเขาไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากโลกภายนอกนั้นเลย เมื่อเขาพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตก็จะลำบาก มีการพูดเล่นที่นักโทษในเรือนจำถามว่าในตอนนี้โทรศัพท์ที่มีปุ่มกดเขายังใช้กันอยู่ไหม เขาติดคุกจนไม่รู้ว่าโทรศัพท์เป็นรูปแบบไหน หนังสือพิมพ์ไม่ได้มีเฉพาะการเมือง มีเรื่องเทคโนโลยี ข่าวสารความรู้ การเรียนรู้ฝึกอาชีพเกษตร น่าที่จะให้นักโทษมีสิทธิตรงนี้บ้าง” สุวรรณากล่าว
สุวรรณา กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือร้องเรียนฉบับนี้คือ กรณีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีการจำกัดผู้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้เพียง 10 คน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ต้องขังที่มีญาติพี่น้องอยู่ต่างจังหวัด ทำให้การเยี่ยมเยียนขาดหาย และกรณีการยุบเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ซึ่งเป็นเรือนจำของนักโทษทางการเมืองก็สร้างความกดดันและคับแค้นให้ญาติผู้ถูกคุมขัง ญาติของนักโทษหลายคนไม่สามารถมาพูดคุยหรือร้องเรียนได้ อาจทราบเพียงว่ามีองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแต่ไม่รู้ว่าจะเข้ามาอย่างไร
“วันนี้จึงมาขอความช่วยเหลือ คุณสมยศเองตั้งหลักเอาไว้ว่า การร้องเรียนในครั้งนี้อาจมีอะไรที่เข้าไปควบคุมเขาในเรือนจำอีกชั้นหนึ่ง อันที่จริงหลังจากคุณสมยศถูกคุมขังในเรือนจำนั้นก็มีหลายชั้นที่เข้าไปควบคุมการเคลื่อนไหวของคุณสมยศ หนังสือฉบับนี้ใช้เวลา 2 วัน ในการที่จะเขียนออกมาซึ่งเนื้อหานำมาจากการพูดคุยกับคุณสมยศที่ต้องการจะร้องเรียน พอทำหนังสือเสร็จแล้วก็ส่งให้คุณสมยศลงนามที่เรือนจำ และคุณสมยศแจ้งไว้ว่าเขาได้เขียนจดหมายเป็นลายมือส่งมาที่คณะกรรรมการสิทธิมนุษยชนแล้วด้วย แต่ไม่มั่นใจว่าถึงหรือไม่เลยให้ดิฉันทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง” สุวรรณากล่าว
สุวรรณา กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นที่ยังไม่มีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ในกรณีของการแยกนักโทษทางความคิดหรือนักโทษทางการเมืองออกไปจากนักโทษทั่วไป ประเด็นหนึ่งที่พวกเราคิดและถกเถียงกันมาตลอดคือ กรณีของนักโทษ ม.112 บางกรณีปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิดที่จะพยายามลุกขึ้นรณรงค์และถูกคุมขังด้วยความผิดมาตรา 112 สมยศเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
อนุกรรมการสิทธิพลเมืองรับปากติดตาม ‘จอน’ ชี้เรื่องที่ร้องเรียนเป็นปัญหาส่วนรวม
อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบหนังสือร้องเรียน และแจ้งว่า เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิชุดนี้มีการแยกคณะอนุกรรมการสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ออกเป็น 2 คณะ เรื่องที่ร้องเรียนอยู่ในความดูแลของอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีชาติชาย สุทธิกลม เป็นประธานโดยตรง อย่างไรก็ตาม เธอรับปากว่าจะส่งเรื่องต่อไปยังอนุฯ สิทธิทางการเมืองและดำเนินการติดตามเรื่องให้
อังคณากล่าวด้วยว่า หลังจากที่สมยศออกมายื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว หากรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหรือได้รับการปฏิบัติที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ขอให้รีบแจ้งต่อคณะกรรมกาสิทธิฯ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิฯ ห่วงกังวล ให้ความสำคัญ และต้องให้ความคุ้มครอง
“จำได้ว่าปลัดกระทรวงยุติธรรมพูดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ต้องขัง จำคุกต้องไม่ใช่เพื่อการแก้แค้นแต่เป็นเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากกว่า ความคิดเหล่านี้ดีแต่จะตามอย่างไรเพื่อให้ไปสู่การปฏิบัติอันนี้เราก็จะต้องติดตามเพื่อที่จะช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้” อังคณากล่าว
จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองกล่าวว่า คิดว่าประเด็นที่คุณสมยศร้องเรียนมานั้นไม่ใช่เรื่องแค่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของผู้ต้องขังทั้งหลายด้วย ประเด็นเหล่าการละเมิดสิทธิในเรือนจำเหล่านี้นี้เคยมีการพูดคุยกัน ยกตัวอย่างเรื่องประเด็นการจำกัดคนเข้าเยี่ยมซึ่งปัญหาใหญ่มากทีเดียว แต่เรื่องที่ไม่ทราบมาก่อนคือการจำกัดสิทธิผู้ต้องขังไม่ให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีความเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะมาปิดกั้นการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการพัฒนาคนด้วย ประเด็นที่ร้องเรียนมาเราจึงควรนำมาพิจารณา
สมชาย หอมลออ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กล่าวว่า ขณะนี้มันมีข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ที่เรียกว่า 'ข้อกำหนดแมนเดลา' ซึ่งหลักการของกฎนี้ก็คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ภายใต้ข้อจำกัดของเสรีภาพในเรื่องที่อยู่ การรักษาความสงบเรียบร้อย การใช้ชีวิตของผู้ต้องขังต้องให้มีความปกติที่สุดเท่าที่จะมากได้ เครื่องหนุ่มห่มที่เหมาะสมในข้อกำหนดก็มีเขียนไว้ การกระทำของกรมราชทัณฑ์ตามคำร้องนั้นหากเป็นความจริงจะทำให้มาตรฐานของเรือนจำต่ำลงไป แน่นอนว่าเรือนจำบางแห่งยังไม่สามารถทำให้ได้ระดับมาตรฐาน แต่ผู้ต้องขังบางคนที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับตัวเองได้ก็ไม่ควรไปลดทอนเขาด้วยความคิดว่าทุกคนต้องถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายเหมือนกันเท่ากันหมด อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
จินตนา แก้วขาว อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กล่าวว่า ประเด็นการละเมิดสิทธิในที่คุมขังต่อผู้ต้องขังในประเด็นที่ร้องเรียนมานั้นยังไม่มีการพูดถึงมากนัก ในเรื่องการยึดที่นอน หมอน ผ้าห่ม ของผู้ต้องขัง จาประสบการณ์กรมราชทัณฑ์จะอ้างว่ามีที่ไม่เพียงพอเพราะความคับแคบ ส่วนกรณีเรื่องหนังสือไม่มีห้องสมุดในบางแดนนั้น ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมีห้องสมุดกลางอยู่แต่นักโทษเข้าไม่ถึง แต่บางเรือนจำก็ไม่มีห้องสมุด เช่น เรือนจำที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้โทรทัศน์ก็ห้ามดูเพราะกลัวผู้ต้องขังติดตามเรื่องการเมือง หากมีหนังสือให้อ่านก็เป็นหนังสือเก่าล้าหลังหลายสิบปี ทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับรู้เรื่องราวปัจจุบันได้เลย ประเด็นที่ร้องเรียนในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
33 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว
เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ 10900
วันที่ 14 มิถุนายน 2559
เรื่อง ร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เรียน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (คุณอังคณา นีละไพจิตร)
กระผม นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยมิได้รับสิทธิการประกันตัว หรือการปล่อยตัวชั่วคราว จึงถูกคุมขังเหมือนนักโทษอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นมา เป็นเวลา 5 ปีแล้ว อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ฉะนั้นก็ตามระหว่างที่ถูกคุมขังเป็นนักโทษสังกัดอยู่แดน 1 โดยทั่วไปมีการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัยตามอัตภาพ จากการบริหารงานราชทัณฑ์ด้วยความเมตตาธรรมต่อผู้ต้องขัง แต่ทว่าตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบและคำสั่งหลายด้านด้วยกัน อันกระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของผู้ต้องขัง มาตรฐานความเป็นอยู่ตกต่ำลง สร้างความทุกข์ยากแสนสาหัสเพิ่มมากขึ้น โดยปราศจากเหตุอันควร และเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบที่ไม่เป็นคุณต่อผู้ต้องขังหลายประการ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจของผู้ต้องขัง และสูญเสียงบประมาณของรัฐ จึงขอร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนดังต่อไปนี้
1. ระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ตามคำสั่งของกรมราชทัณฑ์ได้ทำการยึดที่นอน หมอนหนุนศีรษะ (ขนาด 7.5 x 180 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร) ผ้าห่ม ซึ่งผู้ต้องขังซื้อจากเรือนจำ เรือนจำเป็นผู้จำหน่ายราคาชุดละ 800 – 1,000 บาท โดยเอาชุดเครื่องนอนดังกล่าวจำนวนหลายพันชิ้นไปทิ้งทำลาย ประมาณความเสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท (จำนวนนักโทษ 5,000 คน) ในขณะเดียวกันได้ออกคำสั่งเพิ่มเติมให้ผู้ต้องขังแต่ละคนให้มีเครื่องนอนได้เฉพาะผ้าห่มที่ทางเรือนจำแจกให้จำนวน 3 ผืนเท่านั้น โดยใช้สำหรับปูนอน สำหรับห่อ สำหรับทำเป็นหมอนหนุนศีรษะ ผ้าห่มทั้ง 3 ผืนนี้เป็นผ้าห่อคุณภาพต่ำ ทำความสะอาดยาก เป็นที่สะสมของฝุ่นและเชื้อโรค คำสั่งดังกล่าวกระทบต่อสุขภาพกาย และจิตใจผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นผู้ป่วย เป็นคนชรา เป็นผู้ป่วยกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก อีกทั้งยังไม่อาจกันความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวของเดือนธันวาคม – เดือนมกราคมของทุกปีได้ การยึดที่นอน หมอน ผ้าห่ม ซึ่งซื้อมาจากเรือนจำเป็นการทำลายทรัพย์สินของผู้ต้องขัง สร้างความเดือดร้อน ทุกข์ทรมานจากระเบียบที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2. เรือนจำเคยจัดให้มีหนังสือพิมพ์อ่านเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้เข้าถึงข่าวสารสนเทศน์ ข่าวสารสาธารณะ และบริการสารสนเทศน์ และส่งเสริมการอ่านเพื่อคืนคนดีสู่สังคม แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันได้งดบริการให้อ่านหนังสือพิมพ์ และไม่อนุญาตให้สั่งซื้อได้ ผู้ต้องขังจึงไม่ได้รับรู้ข่าวสารภายนอก นอกจากนี้อนุญาตให้นำส่งหนังสือได้เดือนละ 3 เล่มเท่านั้น และยังจำกัดประเภทหนังสือ หรือนิตยสารอีกด้วย นับเป็นการจัดต่อนโยบายส่งเสริมการอ่านของรัฐบาล และการเรียนรู้ด้วยตนเองตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ นับได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
3. เรือนจำอนุญาตให้ผู้ต้องขังมีเงินในบัญชีเงินฝากสำหรับซื้อสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ต้องขังในเรือนจำได้ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท และญาติฝากเงินให้ได้คราวละ 3,000 บาทต่อครั้ง สร้างความลำบากให้กับผู้ต้องขังที่มีญาติอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ไม่สามารถฝากเงินให้ผู้ต้องขังใช้ได้ล่างหน้า ย่อมกระทบต่อการดำรงชีวิตคามปกติของผู้ต้องขังและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งอื่น ๆ อีกมากมายที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดทั้งกับผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ผู้ควบคุมผู้ต้องขัง ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความทุกข์ยากแสนสาหัส ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันอาจขัดต่อวิสัยทัศน์และภารกิจของกรมราชทัณฑ์ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน มีพันธกรณีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญามาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ได้รับความทุกข์ทรมานจากคำสั่ง และระเบียบซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาความแออัดยัดเยียดแม้แต่น้อย หรือไม่อาจแก้ปัญหายาเสพติดได้ แต่กลับเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ต้องขังมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
กระผมและผู้ต้องขังจำนวนมากขอร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้กรมราชทัณฑ์ยกเลิกระเบียบ คำสั่ง ตามที่ได้ร้องเรียนมานี้ และกำหนดให้ระเบียบหรือคำสั่งใดที่กระทบต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ที่แย่ลง หรือขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนให้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น หรือให้การบริหารงานของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง
ทั้งนี้ขอให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป และขอได้โปรดให้มีการคุ้มครองต่อการร้องเรียน ไม่ให้มีการกลั่นแกล้ง กดดัน ต่อผู้ร้องเรียนในรูปแบบต่าง ๆ จึงใคร่ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
(นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข)
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น