12 ก.ค.2559 วานนี้ (11 ก.ค.59) สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลความคืบหน้าหลังจากรัฐบาลได้ส่งเรื่องมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประเด็นอำนาจของผู้เสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราช ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าสิ่งที่สำนักงานพระพุทธศาสนา (พ.ศ.) ส่งรายชื่อสมเด็จพระสังฆราชตามที่มหาเถรสมาคม(มส.) เสนอนั้นไม่ขัดต่อมาตรา 7 พ.ร.บ.สงฆ์ และจากการตรวจสอบมติ ครม. ที่ผ่านมา 28 ก.พ. 2482 ระบุว่าเมื่อส่วนราชาการขอความเห็นกฤษฎีกาไปแล้ว มีผลอย่างไร ให้ยึดถือตามนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมกฤษฎีกาดังกล่าวว่า อำนาจใครพิจารณาก็ว่าไปตามนั้น ส่วนตนมีหน้าที่ในการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเรื่องใดที่เป็นปัญหา ก็จะยังไม่ดำเนินการ ต้องรอให้กระบวนการทุกอย่างเรียบร้อยก่อน
“ผมจะทูลเกล้าฯ ในสิ่งที่มีปัญหาได้หรือไม่ ไม่ได้ก็จบ กระบวนการต้องเรียบร้อยก่อน ไม่กลัวเกิดการทะเลาะเบาะแว้งต่อต้านกันหรืออย่างไร มีกี่พวก อย่ามองบ้านเมืองในแง่ดีแง่เดียว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ค.59) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรีฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจในการตรวจสอบรายนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดตามสมณศักดิ์ ตามที่มหาเถรสมาคม เสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการทูลเกล้าฯ และรับสนองพระราชโองการ
“นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงต้องตรวจสอบก่อนดำเนินการ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ตรวจสอบเรื่องอะไรบ้าง เพราะเรื่องการทุจริตไม่ควรพูดในที่สาธารณะ มส.มีอำนาจในการส่งเรื่องมายังรัฐบาล แต่เมื่อเรื่องส่งมายังรัฐบาลแล้ว นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการตรวจสอบ” วิษณุ กล่าว
วิษณุ กล่าวด้วยว่า สมเด็จพระราชาคณะที่มีความอาวุโสตามสมณศักดิ์ ถัดจากสมเด็จช่วง ยังมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ แต่ขณะนี้อาพาธหนัก ส่วนองค์ถัดมาคือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ และสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตามลำดับ ซึ่งการแต่งตั้งจะพิจารณาจากอาวุโสตามสมณศักดิ์สมเด็จก่อน โดยไม่พิจารณาเรื่องนิกาย
ส่วนที่มีการแบ่งฝ่าย หลังจากที่มีการเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องดังกล่าวนั้น วิษณุ มองว่า เป็นการแบ่งฝ่ายที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาลจึงต้องทำความเข้าใจ และอธิบายต่อสังคมต่อไป
วิษณุ ยังกล่าวถึง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ที่มีคณะสงฆ์บุกรุกพื้นที่ป่า ว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบและกวดขันการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ หากพบว่าพื้นที่ใดเข้าข่ายเกิน 100 ไร่ หรือ 500 ไร่ หรือ เป็นพื้นที่ที่ศาลวินิจฉัยแล้วว่าผิด ก็ต้องดำเนินการทางกฎหมายทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น