วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประยุทธ์ ปัดใช้ ม.44 จัดการ 'อูเบอร์' แต่ยังผิดกฎหมายอยู่ ชี้ต้องคุ้มครองแท็กซี่


'ขนส่ง' ยัน จับ-ปรับอูเบอร์ทันที หากมีผู้แจ้งเบาะแส ด้านแท็กซี่ชี้ปฏิเสธผู้โดยสารเหตุไม่คุ้ม กองตรวจการขนส่งทางบกสั่งปรับแท็กซี่แซวผู้โดยสารหน้าตาขี้เหร่ อบรมระเบียบการให้บริการ

21 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีปัญหาการร้องเรียนขอให้มีการใช้ ม.44 จัดการแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ ว่า ไม่มีแนวคิดที่จะใช้ มาตรา 44 จัดการแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ ซึ่งต้องไปดูก่อนว่าแอพฯ อูเบอร์ทำถูกกฎหมายหรือไม่  ซึ่งตอนนี้กำลังให้กระทรวงคมนาคมพูดคุยหาทางออก ทั้งนี้กฎหมายการให้บริการ การขนรับส่งผู้โดยสารโดยมีค่าตอบแทน มีกฎระเบียบ ข้อบังคับอยู่แล้ว คือกฎหมาย ที่ควบคุมเรื่องแท็กซี่ มีป้ายเหลือง และป้ายต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามข้อบังคับ
พล.อ.ปะยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ ที่เป็นปัญหาเพราะมีคนร้องเรียนมาว่าทำผิดกฎหมาย ก็จำเป็นต้องไปตรวจสอบ ต้องไปจับกุม แต่ในขณะเดียวกันแอพพลิเคชั่นดังกล่าวก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ก็ต้องหากฎหมายที่เหมาะสมว่าจะทำอย่างไร ที่จะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา ต้องช่วยกันพัฒนา และหามาตรการใหม่ที่จะไปเสริม แต่ในวันนี้แอพฯ ยังผิดกฎหมายอยู่ ก็ต้องคุ้มครองให้คนที่ขับแท็กซี่ที่ถูกต้องกฎหมายด้วย

'ขนส่ง' ยัน จับ-ปรับอูเบอร์ทันที หากมีผู้แจ้งเบาะแส 

ขณะที่ สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า หากอูเบอร์ ยืนยันที่จะให้บริการในช่วงที่มีการศึกษาร่วมกัน 6 เดือน - 1 ปี เมื่อกรมการขนส่งทางบก ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแส จะดำเนินการจับและปรับทันที เนื่องจากได้ชี้แจงข้อกฎหมายว่า รถที่ให้บริการสาธารณะอย่างถูกต้อง ต้องเป็นรถป้ายเหลือง ต้องจดทะเบียนบันทึกประวัติ ตรวจสอบสภาพรถปีละ 2 ครั้ง และทำประกันภัยรถ คนขับและผู้ใช้บริการ  
ส่วนคณะกรรมการ ที่จะเข้ามาศึกษาแนวทางข้อกฎหมาย เพื่อรองรับการให้บริการรถในรูปแบบอูเบอร์นั้น อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ต้องใช้เวลาอีกระยะ โดยขณะนี้ ได้ติดต่อไปยัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ แล้ว น่าจะตั้งคณะกรรมการได้ภายในเดือนนี้  ขณะที่ การติดตั้งจีพีเอส ในรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 เส้นทางกรุงเทพ-ต่างจังหวัด ของ บขส. ขณะนี้คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 80 จากจำนวนรถทั้งหมด 6,000 คัน เชื่อจะติดตั้งครบตามกำหนด 

ด้านแท็กซี่ชี้ปฏิเสธผู้โดยสารเหตุไม่คุ้ม

วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงปัญหาที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารว่าต้องการให้กระทรวงคมนาคมทบทวนโครงสร้างค่าโดยสารในปัจจุบันให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากสาเหตุหลักของการปฏิเสธผู้โดยสาร เหตุเพราะไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะไปส่งผู้โดยสาร
ด้านการให้บริการแอพพลิเคชั่นต่างๆนั้น นายวิฑูรย์ มองว่าไม่ได้อยากมีเรื่องกระทบกระทั่งอยากให้มีบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยอมรับว่ารายได้ลดลงร้อยละ 30 ส่วนตัวสนับสนุนแนวทางที่กรมขนส่งทางบกจะทำแอพพลิเคชั่น Smart Taxi ที่พัฒนาโดยคนไทย ยกระดับแท็กซี่ไทยด้วยความปลอดภัยในการติดกล้องวงจรปิด และการใช้บัตรแสดงตัวตนผู้ขับขี่

ปรับแท็กซี่แซวผู้โดยสารหน้าตาขี้เหร่ อบรมระเบียบการให้บริการ

จากกรณีที่มีผู้โพสต์คลิปผ่าน Facebook ด้วยการถ่ายทอดสด เมื่อเวลา 01.00 น.ของคืนวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงพฤติกรรมคนขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน ทว 330 กรุงเทพมหานคร ใช้วาจาไม่สุภาพ โดยการแซวผู้โดยสารสาวว่าหน้าตาขี้เหร่ จึงไม่มีแท็กซี่จอดรับ ทำให้แฟนของหญิงสาวไม่พอใจ เกิดการโต้เถียงกัน ก่อนที่คนขับรถแท็กซี่จะให้ผู้โดยสารลงจากรถก่อนถึงที่หมาย พร้อมทั้งยังได้ตามลงไปหาเรื่องต่อ จนเกิดการชกต่อยกันขึ้น จากนั้นคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.บางซื่อ และฝ่ายผู้โดยสารก็ได้เข้าร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารด้วย
วานนี้ (20 มี.ค.60) กองตรวจการขนส่งทางบก (กตส.) ได้เรียก สมศักดิ์ แสนศักดิ์ คนขับรถแท็กซี่คันดังกล่าว มาสอบข้อเท็จจริง ซึ่งก็ให้การยอมรับว่าได้ใช้วาจาไม่สุภาพ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารไม่พอใจ และมีการทะเลาะวิวาทกันจริง ทั้งนี้ กตส.เห็นว่าคนขับรถแท็กซี่ดังกล่าวกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติรถยนต์ จึงลงโทษฐานความผิดแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และในฐานความผิดไม่ส่งผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลง ด้วยการเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุดเป็นเงิน 2,000 บาท และอบรมเรื่องกฎระเบียบในการให้บริการที่ดีเป็นเวลา 3 ชั่วโมง พร้อมทั้งบันทึกประวัติเพื่อติดตามพฤติกรรมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น